สื่อหลายสำนักของต่าประเทศ รายงานว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีฝรั่งเศส คนที่ 25 โดยรอบตัดสินจะมีขึ้นในวันที่ 7 พ.ค. นี้ ยังไม่ทราบว่าใครจะได้รับเลือกระหว่าง เอ็มมานูเอล มากร็อง กับ มารีน เลอ แปน ซึ่งนับเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในประเทศ และจะมีผลกระทบต่อระบบภูมิศาสตร์การเมืองในยุโรปอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ หาก มากร็อง ชนะในการเลือกตั้งรอบชิงดำ อนาคตฝรั่งเศสอาจจะเปิดกว้างสู่การปฏิรูปทางเศรษฐกิจมากขึ้น และอาจมีการประนีประนอมกับเยอรมนี พร้อมแก้ไขสถานการณ์ภายในยูโรโซน ในฐานะที่ทั้งสองประเทศเป็นแกนหลักทางเศษฐกิจของภูมิภาค นอกจากนี้ มากร็อง ยังเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของคนรุ่นใหม่ ด้วยวัยเพียง 39 ปี ไม่มีสังกัดพรรคการเมือง แถมยังเพิ่งจัดตั้งกลุ่มแนวร่วมการเมืองของตัวเองโดยมีชื่อว่า ออง มาร์ช! (En Marche!) เมื่อปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม จากประสบการณ์ทางการเมือง ในฐานะรัฐมนตรีเศษฐกิจของประธานาธิบดี ฟรองซัวส์ ออลลองด์ เพียง 4 ปี พร้อมกับเพิ่งลงสมัครเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ทำให้เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของ มากร็อง ที่เข้าสู่วงการอย่างเต็มตัว โดย มากร็อง ประกาศตัวเป็นสายกลาง เนื่องจากสังคมการเมืองแบ่งแยกเป็นฝ่ายซ้าย และฝ่ายขวา ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนยังเลือกผู้สมัครตามขั้วการเมืองดังกล่าว
ทั้งนี้ อุดมการณ์การเมืองสายกลางของ มากร็อง คือต้องการประสานความแตกแยกระหว่างสองขั้วการเมือง ซึ่งอาจจะไม่ได้รับการสนับสนุนมากนัก แม้เขาจะได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นอันดับ 1 ในรอบแรก แต่คะเเนนของ มากร็อง กลับต่ำสุดนับตั้งแต่การเลือกตั้งประธานาธิบดีรอบแรก เมื่อปี 2545 โดยครั้งนั้นประธานาธิบดี ฌัก ชีรัก ชนะรอบแรกด้วยคะแนนเพียง 20%
ขณะเดียวกัน คู่แข่งของ มากร็อง คือ มารีน เลอ แปน ซึ่งเป็นบุตรสาวของ ฌ็อง-มารี เลอแปน นักการเมืองอาวุโสฝ่ายขวาจัดชื่อดังของฝรั่งเศส และเป็นผู้ก่อตั้งพรรคแนวร่วมแห่งชาติ (เอฟเอ็น) เมื่อปี 2515 ก่อนมอบอำนาจให้ มารีน เมื่อปี 2554 ซึ่งเธอได้ใช้ประเด็นการที่ มากร็อง เป็นอดีตนายธนาคารของกลุ่มร็อธไชลด์ จากสหรัฐฯ ซึ่งถือเป็นองค์กรนายทุนขนาดใหญ่ระดับโลก มาเปรียบเทียบกับตัวเธอตามแนวทางประชานิยมปีกขวา ในฐานะตัวแทนของมวลชน ประกอบกับ มากร็อง เคยร่วมรัฐบาลของ ออลลองด์ ที่มีคะแนนนิยมต่ำมาก ทำให้เป็นประเด็นที่ เลอ แปน นำมาใช้โจมตีได้ตลอดว่า มากร็อง เป็นทายาทของออลลองด์ แม้ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจยังคงทำให้ มากร็อง มีภาษีดีกว่า แต่ผลสำรวจความคิดเห็นของโอโดซา ให้ มากร็อง เหนือเลอ แปน ในเรื่องนี้ที่ 35% ต่อ 20%
นอกจากนี้ นานาประเทศในภูมิภาค นำโดยสหภาพยุโรป (อียู) สนับสนุน มากร็อง มากกว่าอย่างชัดเจน ย่อมจะส่งผลต่อการทำงานของ เลอ แปน อย่างไม่ต้องสงสัย หากเธอได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และการนำฝรั่งเศสออกจากอียู แม้ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ง่ายนัก โดยดูได้จากกรณีของสหราชอาณาจักร เป็นตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และผันผวนในแทบทุกด้าน ย่อมส่งผลในทางจิตวิทยาว่า คนส่วนใหญ่ย่อมต้องการเผชิญกับสถานการณ์ที่เสี่ยงน้อยที่สุด ซึ่งทั้ง มากร็อง และเลอ แปน ต่างมีจุดยืนของตัวเองชัดเจน เพียงพอต่อการตัดสินใจของชาวฝรั่งเศส ว่าควรจะเลือกใครเข้ามาเป็นผู้นำประเทศ ที่สามารถบริหารจัดการท่ามกลางความเสี่ยงได้ดีกว่ากันในอนาคต