สุรินทร์ อำเภอพนมดังรักจัดใหญ่ ส่งเสริมการท่องเที่ยวปราสาทตาควาย บนเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย –กัมพูชา ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ทหารกล้า พลีชีพเพื่อชาติ ประชาชนชาวไทยแห่เข้าชมปราสาทตาควายคึกคัก และย้อนอดีต 7 ปีเต็มของการปะทะ ทหารไทยกับทหารกัมพูชา ที่ปราสาทตาควาย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา
บริเวณทางขึ้นปราสาทตาควาย บนเทือกเขาพนมดงรัก ชายแดนไทย-กัมพูชา บ้านไทยนิยมพัฒนา หมู่17 ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ นายชูศักดิ์ ลักษณ์ชนะวงศ์ นายอำเภอพนมดงรัก เป็นประธานเปิดงานส่เสริมการท่องเที่ยวปราสาทตาควาย ครั้งที่ 4 ซึ่งได้รับการสนับสนุน จากกรมทหารพรานที่ 26 กองกำลังสุรนารี กองทัพภาคที่ 2 องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ ในการจัดงาน โดยมีนายประจวบ เสงี่ยมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบักได เป็นผู้กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวพื้นที่ปราสาทตาควาย อนุรักษ์สืบสานฟื้นฟูวัฒนธรรมอันดีงามของท้องถิ่น และสร้างจิตสำนึกให้หวงแหนผืนแผ่นดินตลอดจนเห็นคุณค่าของโบราณสถานโบราณวัตถุที่ตั้งอยู่บนผืนแผ่นดินไทย รวมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ปราสาทตาควาย ให้เป็นที่รู้จักของบุคลทั่วไป
การจัดงานครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวและประชาชนเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมากกว่าห้าพันคน ซึ่งภายในงานได้จัดกิจกรรมทางสงฆ์ พิธีรำบวงสรวงสักการะสิ่งศักดิสิทธิ์ในปราสาทตาควาย พิธีสวดมาติกาบังสุกุลอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนทหารกล้า จำนวน 9 นาย โดยมีเจ้าคณะอำเภอกาบเชิงและคณะสงฆ์ จำนวน 10 รูปมาร่วมทำพิธีดังกล่าว นอกจากนี้มีการประกวดร้องเพลงของผู้นำชุมชนและประเภททั่วไป การแข่งขันชกมวยทะเล และการแข่งขันชกมวยไทยในศึก 2 สายเลือด การแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน นิทรรศการหน่วยงานภารรัฐและเอกชน รวมทั้งการจำหน่ายสินค้า otop ตลอดทั้งวัน
สำหรับ ปราสาทตาควายปราสาทตาควาย หรือปราสาทตาวาย หรือในภาษาเขมรเรียกว่า ปราสาทกรอเบย ตั้งอยู่บริเวณช่องตาควาย เป็นปราสาทหินศิลาแลง ตั้งทางด้านทิศตะวันออกของปราสาทตาเมือนธม ห่างไปประมาณ 12 กิโลเมตรตั้งอยู่บนสันเขาห่างจากหน้าผาสูงประมาณ 10 เมตร ของเทือกเขาพนมดงรัก เป็นปราสาทจตุรมุข ตั้งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก ผังของปราสาทเป็นรูปกากบาท ส่วนฐานต่ำ ส่วนล่างสุดก่อด้วยศิลาแลง ส่วนบนก่อด้วยศิลาทรายทั้งหมด หลังคาห้องครรภคฤหะ ก่อเป็นทรงพุ่มยอดปรางค์ ซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไป 5 ชั้น ส่วนหลังคามุขก่อเป็นรูปประทุน จรดหน้าบันทั้ง 4 ด้าน ภายในห้องมีประติมากรรม ลักษณะคล้ายสวายยัมภูวลึงค์ 1 ชิ้น สร้างในช่วงปลายสมัยนครวัด ต่อตอนต้นสมัยบายน ระหว่างรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ถึงพระเจ้าชัยวรมันที่ 7
ที่สำคัญพื้นที่ปราสาทตาควาย ประชาชนชาวไทยจะต้องจดจำไปอย่างยาวนานว่า เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2554 ได้เกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด ระหว่าทหารไทยกับทหารกัมพูชา เป็นเวลา กว่า 4 วัน ทหารกล้าไทยพลีชีพเพื่อรักษาแผ่นดินของชาติ จำนวน 9 นาย เพื่อยึดพื้นที่ปราสาทตาควาย บนเทือกเขาพนมดงรัก และสถานการณ์สงบลง ด้วยการเจรจา ทหารไทย และทหารกัมพูชา ตกลงกัน ในการวางกำลังทหารไว้ในพื้นที่ใกล้เคียงปราสาทตาควาย ห้ามทหารฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเข้ายึดบริเวณภายในปราสาทตาควาย จนกว่า จะมีการปักปันเขตแดนที่ชัดเจนจากเจ้าหน้าที่ของทั้ง 2 ประเทศ เวลาผ่านไป 7 ปี เต็ม และทุกๆปี ในวันที่ 22 เมษายน ก็จะมีการประกอบพิธี ทำบุญอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ทหารกล้าสละชีพเพื่อปกป้องแผ่นดินของชาติ และงานส่งเสริมการท่องเที่ยวปราสาทตาควาย