แบงก์พาณิชย์ 11 แห่ง โกยกำไรช่วงไตรมาสแรก 5.3 หมื่นล้านบาท แบงก์กลาง-ใหญ่ ยังเซ็งต้องตั้งสำรองเพิ่ม รับมือหนี้เน่า เอสเอ็มอี ธุรกิจ สินเชื่อบ้านทะยาน ด้านกรุงไทยเจ็บสุดเอ็นพีแอลพุ่งเกือบหมื่นล้าน
ผลดำเนินการของธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง ในไตรมาส 1 ปี 60 โดยพบว่ามีกำไรสุทธิรวม 53,803 ล้านบาท โดยธนาคารขนาดใหญ่และขนาดกลางแม้ภาพรวมมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ยังคงประสบปัญหาหนี้เสีย (เอ็นพีแอล) ขยายตัวต่อเนื่องจากลูกค้ากู้บ้าน ธุรกิจรายใหญ่ และเอสเอ็มอี จนทำให้ต้องตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในอัตราสูง โดยเฉพาะธนาคารกรุงไทยที่พบว่า ไตรมาสเดียวมีหนี้เสียเพิ่มขึ้น 9,254 ล้านบาท
นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ไตรมาส 1 มีกำไรสุทธิ 10,171 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 525 ล้านบาท หรือ 5.45 % โดยรายได้ดอกเบี้ยเพิ่ม 4% แต่รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 11.59% และตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญตามภาวะเศรษฐกิจจากเอ็นพีแอลที่ 3.31% เช่นเดียวกับ นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ธนาคารมีกำไรสุทธิ 11,912 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13% เอ็นพีแอลอยู่ที่ 2.7% เพิ่มขึ้น 0.06% ส่วนใหญ่เกิดจากสินเชื่อบ้านและเอสเอ็มอี ทำให้ธนาคารได้ตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ 5,010 ล้านบาท
ด้านธนาคารกรุงไทย ไตรมาส 1 มีสินเชื่อด้อยคุณภาพ 100,382 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,254 ล้านบาท หรือ 10.15 % จากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และเอสเอ็มอี แต่ยังคงมีกำไรสุทธิหลังหักสำรอง 8,532 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 992 ล้านบาท หรือ 13.16 % พร้อมทั้งกันสำรองฯ 7,460 ล้านบาท ขณะที่เงินสินเชื่อ 1.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 9,198 ล้านบาท ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ มีกำไรสุทธิที่ 8,305 ล้านบาท แต่มีเงินให้สินเชื่อ 1.92 ล้านบาท ลดลง 0.9% ซึ่งเป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้าจนส่งผลต่อการชำระหนี้ของภาคธุรกิจ และธนาคารยังติดตามภาวะหนี้อย่างใกล้ชิด พร้อมกับตั้งสำรองเพิ่มอีก 5,806 ล้านบาท