ความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพทางภูมิอากาศของประเทศไทยอยู่ในเขตอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และตะวันออกเฉียงเหนือ มีความหลากหลายของระบบนิเวศน์ของป่าหลายประเภท มีพรรณพืชหลากหลายชนิด ในปัจจุบันพื้นที่ป่ามีจำนวนลดลงจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ ล้วนทำให้พรรณพืชที่มีการใช้ประโยชน์มีน้อยหรือถูกทำลายลง กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งทรงมีพระราชดำริ และได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาพื้นที่ป่ามีจำนวนลดลง ทรงได้รับสั่งให้ดำเนินงานหลายอย่างเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติ เช่นโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (อพ.สธ.) และการจัดตั้งธนาคารพืชพรรณ ทรงสนับสนุนให้มีการรวบรวมพันธุ์พืชเฉพาะถิ่น พืชหายากและใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนประโยชน์ของพืชชนิดต่างๆ การทำเกษตรกรรมคณะนักวิจัยจากคณะเกษตรศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยนเรศวร โดย นายพุทธพงษ์ สร้อยเพชรเกษม นักวิชาการเกษตร ได้รับโจทย์วิจัยและการสนับสนุนจาก สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมี รศ.ดร.พีระศักดิ์ ฉายประสาท เป็นผู้ร่วมวิจัย ได้จัดทำโครงการวิจัยเรื่อง การศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพและขยายพันธุ์มันม่วง (Dioscorea alata L.) เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน สนองโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพของมันป่าด้วยเทคนิคเครื่องหมายดีเอ็นเอ ศึกษาวิธีการขยายพันธุ์และวิธีการปลูกมันป่าเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี เพื่อศึกษาวิธีการทำเมล็ดเทียมสำหรับการอนุรักษ์พันธุกรรมและขยายพันธุ์มันป่า พร้อมวิเคราะห์ปริมาณสาระสำคัญ ได้แก่ saponin และ diosgenin พร้อมสร้างแปลงรวบรวมสายพันธุ์มันป่าสำหรับเป็นธนาคารพันธุกรรมพืชต่อไป
จากการทดลองจะพบว่า มันป่าจะมีคุณค่าทางโภชนาการที่ดี อุดมไปด้วยคาร์โบไฮเดรต โปรตีน น้ำตาล วิตามิน แคลเซียม โซเดียม ไฟเบอร์สูง
แคโรทีนอยด์ และแอนโทไซยานินรวมอยู่ด้วย (cyanidin 3-O-glucoside และ peonidin 3-O-glucoside) มีฤทธิ์ทางชีวภาพต้านเบาหวาน ลดระดับไขมันในเลือด และฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย มีสารต้านอนุมูลอิสระต่อบทบาทสำคัญในการป้องกันและยับยั้งภาวะโรคเบาหวาน การรับประทานมันเลือดยังช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศ ลดไขมันและเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งเต้านมและโรคหลอดเลือดหัวใจ จากการสำรวจจำแนกชนิดของมันป่า จะพบอยู่ด้วยกัน 13 ชนิด ในเขตภาคเหนือตอนล่างของประเทศ แบ่งตามลักษณะการใช้ประโยชน์ได้ 7 ชนิด โดยแบ่งเป็นการใช้ประโยชน์ทางอาหาร 5 ชนิด ได้แก่ กลอย มันเลือด มันแซง มันมือเสือ และมันคันขาว และการใช้ประโยชน์ทางเภสัชกรรม 2 ชนิด ได้แก่ กลิ้งกลางดง และยั้ง
ผลสำเร็จจากโครงการวิจัยนี้จะมีส่วนช่วยป้องกันการสูญพันธุ์เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงส่งเสริมให้คนในชุมชนตระหนักและหวงแหนที่จะร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรทางพันธุกรรม ตลอดจนใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความรู้การใช้ประโยชน์ เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต