วันที่ 31 มีนาคม 2567 ที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ชวนเที่ยวงานจาก “พันธุกรรมสู่ความยั่งยืน” ตั้งแต่วันที่ 5 – 7 เมษายน 2567 เวลา 08.00 – 17.00 น.
พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จ.ปทุมธานี ได้เตรียมจัดงาน “จากพันธุกรรมสู่ความยั่งยืน” น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการอนุรักษ์ทรัพยากร และสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงสืบสาน รักษา และต่อยอดโครงการพระดำริที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ทรัพยากร รวมทั้งเทิดพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพ วันที่ 2 เมษายน 2567 ภายในงานจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ และนิทรรศการของเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ “จากพันธุกรรมพื้นบ้าน สู่ความยั่งยืน” เรียนรู้สู่การประยุกต์ใช้ในห้องอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ชม ชิม ช้อป สินค้าผลผลิตเกษตรตามฤดูกาลจากร้านค้าเครือข่ายและภาคีความร่วมมือจากทั่วประเทศ
พลอากาศเอก เสนาะ พรรณพิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กล่าวว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญเกี่ยวกับการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อความมั่นคงของประเทศ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา ต่อยอด โครงการพระราชดำริที่เกี่ยวเนื่องกับการอนุรักษ์ทรัพยากร และสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้านักอนุรักษ์ ทรงเป็นต้นแบบของการทำงานเพื่อการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากร พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงจัดงานนี้ขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมพระเทพรัตนราชสุดาฯ วันที่ 2 เมษายน เพื่อให้ประชาชนคนไทยได้เรียนรู้ถึงคุณค่าและความหลากหลายของทรัพยากรและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน ผ่านกิจกรรมเรียนรู้ที่หลากหลาย ทั้งนิทรรศการ กิจกรรมการมีส่วนร่วม กิจกรรมการเรียนรู้เรื่องราวของทรัพยากรธรรมชาติต่าง ๆ มากมาย ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้เป็นส่วนหนึ่งใน การสร้างคุณค่า อนุรักษ์ ส่งต่อการรักษาและใช้ประโยชน์จากทรัพยากร”
กิจกรรมภายในงานสำคัญ ๆ มีดังนี้ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงเป็นต้นแบบด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรที่นำไปสู่การใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน พร้อมส่งต่อและสร้างแรงบันดาลใจให้กับประชาชนในการดูแล รักษา แบ่งปัน แลกเปลี่ยน และขยายผลสู่ความยั่งยืน
นิทรรศการจากเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ “จากพันธุกรรม สู่ความยั่งยืน” ถ่ายทอดเรื่องราวของพันธุกรรมพื้นบ้าน ผ่านฐานนิทรรศการทั้ง 6 โซน ประกอบด้วย พันธุกรรมเพื่อการอนุรักษ์ ความหลากหลายทางพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน ข้าวกับประเพณีและวัฒนธรรม วิถีชีวิตและภูมิปัญญากับพันธุกรรมข้าวพื้นบ้าน และการแปรรูปข้าว นิทรรศการผักพื้นบ้าน 72 ชนิด นำเสนอผักพื้นบ้านประจำถิ่น ผักพื้นบ้านหายากมาจัดแสดงให้เรียนรู้ทดลองชิมรสชาติที่แตกต่างกัน นิทรรศการมาดื่ม มาดริ๊ง Wisdomking coffee พร้อมกิจกรรมเรียนรู้เรื่องราวการจัดการกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อการพัฒนาอาชีพที่มั่นคง จากร้านกาแฟทั่วประเทศ 16 ร้านค้า
พลาดไม่ได้กับการอบรมวิชาของแผ่นดินและอบรมเชิงปฏิบัติการกว่า 12 หลักสูตร ได้ทั้ง Onsite และ Online ฟรี อาทิ หลักสูตร นานาสายพันธุ์กาแฟ โดยอาจารย์สุทิศา พรมชัยศรี เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ชุมพร หลักสูตรเทปาเช่ เครื่องดื่ม โปรไบโอติก สไตล์ แมกซิกัน อาจารย์สายชล ธำรงโชติ เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.ชัยนาท หลักสูตรพันธุรรมว่านไทย อาจารย์สุวัฒนชัย จำปามูล เครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ จ.นครราชสีมา และหลักสูตรเห็ดเจ็ดชั่วโคตร ผศ.ดร.อุทัย อันพิมพ์ คณะบริหารศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นต้น
ร่วมกันอนุรักษ์พร้อมส่งต่อพันธุกรรม กับกิจกรรม เพาะ แจก แลก เปลี่ยน พันธุกรรมพืช ชม ชิม ช้อปสินค้าเกษตรปลอดภัยเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม กว่า 150 ร้านค้า จุใจ ทั้งของกิน ของใช้ ผลิตภัณฑ์แปรรูป ต้นไม้พันธุ์ไม้ โดยเกษตรกรเครือข่ายพิพิธภัณฑ์เกษตรฯ ในราคามิตรภาพ
พิเศษ เปิดเข้าชมพิพิธภัณฑ์มหัศจรรย์พันธุกรรม พิพิธภัณฑ์ป่าดงพงไพร และพิพิธภัณฑ์ในหลวง รักเรา ในกรณีพิเศษเนื่องในโอกาสวันจักรี โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สนุกเพลิดเพลินกับการจัดแสดงด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้าชมเรียนรู้ได้ทุกวัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม 02-529-2212-13, 087-359-7171 คลิกดูรายละเอียดได้ที่ www.wisdomking.or.th หรือ facebook / Line ID : @wisdomkingmuseum
ภาพ/ข่าว สมาคมนักข่าวปทุมธานี