เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2567 : นายธนากร ดอนเหนือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ มอบนโยบาย การขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมสหกรณ์ให้กับผู้เรียนในศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” (ศศช.) ภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีนางสาวเอื้อมพร ศรีภูวงศ์ ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย นายอนุกูล สังข์ศิริ ผู้อำนวยการกองประสานงานโครงการพระราชดำริ กรมส่งเสริมสหกรณ์ คณะวิทยากร และผู้บริหารหน่วยงาน สถานศึกษา สถาบันส่งเสริมการเรียนรู้ภาคเหนือ และครู (ศศช.) ในพื้นที่ กพด. 5 จังหวัดเชียงใหม่,แม่ฮ่องสอน,ตาก,น่าน และ พังงา ต้อนรับและเข้าร่วมอบรม ณ โรงแรมเชียงใหม่ออคิด จังหวัดเชียงใหม่
การอบรมครั้งนี้จัดขึ้นโดยการประสานความร่วมมือระหว่าง กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการอบรมพัฒนา ครู (ศศช.) ในพื้นที่ กว่า 100 คน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครูได้นำหลักการ วิธีการจัดกระบวนการเรียนรู้ แบบ Action learning ตามแนวทางสหกรณ์ ไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน อย่างถูกต้อง เหมาะสม เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถนำไปบูรณาการการจัดการเรียนรู้เชื่อมโยงกับศาสตร์ต่างๆที่เกี่ยวข้องให้กับผู้เรียน เช่น การจดบัญชี ดูกำไร ขาดทุนเพื่อจะได้ฝึกเรื่องการคำนวณ จดบันทึกรายรับรายจ่าย เพื่อฝึกการอ่านเขียนภาษาไทย เป็นต้น รวมทั้งให้ครูได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการสหกรณ์ให้แก่ผู้เรียนเพื่อมุ่งไปสู่การส่งเสริมการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ ให้ประชาชนพร้อมเข้าสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
นายธนากร ดอนเหนือ กล่าวว่า “การขับเคลื่อนการจัดกิจกรรมสหกรณ์ให้กับผู้เรียน ให้ประสบความสำเร็จนั้น ครูมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งครูจะต้องเป็นนักส่งเสริมการเรียนรู้ ที่สามารถตอบโจทย์ต่อความต้องการของผู้เรียน หรือประชาชนและสามารถยกระดับคุณภาพชีวิต จัดการเรียนรู้ให้ครอบคลุม โดยครูจะต้องเป็นต้นแบบในการออมให้กับผู้เรียน และประชาชน ผ่านการจัดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม หรือ PBL. การทำงานเป็นทีม โดยการฝึกฝนจากประสบการณ์ตรง ต้องส่งเสริมให้เขาได้เรียนรู้ กำไร ขาดทุนว่าเกิดจากปัญหาอะไร เรียนรู้จากปัญหา เช่น สินค้าของหาย จะแก้ไขอย่างไร ต้องฝึกให้ผู้เรียนรู้ถึงความสำคัญว่าเกิดปัญหาแล้วแก้อย่างไร และต้องขยายผลจากห้องเรียนไปสู่ชุมชนด้วยความเข้าใจ และสร้างสรรค์ ให้หลักคิดของสหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ดังนั้นครูต้องเปลี่ยนมิติใหม่ของการเรียนรู้ ไม่ต้องสร้างคนให้เก่งทั้งหมด แต่ต้องสร้างคนให้เป็นคน ให้เป็นคนดี และมีชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมได้อย่างแท้จริง