วันที่ 20 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. ที่ หอประชุมอำเภอเมืองลพบุรี จังหวัดลพบุรี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานใน พิธีมอบแบบลายผ้าพระราชทาน “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” “ผ้าลายชบาปัตตานี” และเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน”เพื่อมอบให้กับประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดลพบุรี นายอำเภอ กลุ่มช่างทอผ้า ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ OTOP ประเภทผ้าและเครื่องแต่งกาย ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี รวมทั้งสิ้น 42 คน เพื่อนำไปสร้างสรรค์ชิ้นงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน
นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า “นับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดโครงการ Silk Festival 2023 สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี พระราชทานเครื่องหมายรับรองสินค้าแฟชั่นและหัตถกรรมพระราชทาน “Sustainable Fashion : แฟชั่นแห่งความยั่งยืน” แก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต และผู้ประกอบการ ที่สร้างสรรค์ผืนผ้าและหัตถกรรม ด้วยขั้นตอนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปลอดภัยต่อผู้สร้างสรรค์และผู้สวมใส่ ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้รับมาตรฐานสากล และเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคใต้ ณ แหล่งสมาคมนายทหารสัญญาบัตร กองบัญชาการกองพลทหารราบที่ 15 ค่ายสมเด็จพระสุริโยทัย อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายชบาปัตตานี” เพื่อเป็นของขวัญแก่ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการชาวจังหวัดปัตตานี เพื่อสร้างอัตลักษณ์ สืบสานและต่อยอดภูมิปัญญาและงานหัตถศิลป์พื้นถิ่น ให้ดำรงคงอยู่คู่แผ่นดินไทย”
“อีกทั้งเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2567 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ หอประชุมไพรพะยอม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรนิทรรศการผ้าทอแบบโบราณ ณ บ้านคำปุน ตำบลคำน้ำแชบ อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี พระราชทานแบบลายผ้า “ผ้าลายสิริวชิราภรณ์” ซึ่งเป็นลายที่ได้ทรงศึกษาค้นคว้าลวดลายผืนผ้าจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และทรงนำมาออกแบบลายพระราชทานเนื่องในปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยพระราชทานแบบตั้งต้นไว้ 4 ประเภท ได้แก่ ประเภทผ้ากาบบัว ประเภทผ้ายก จก ขิด แพรวา ประเภทผ้ามัดหมี่ และประเภทผ้าบาติก ซึ่งสามารถนำลายพระราชทานหลัก ทั้ง 4 ประเภทนี้ไปถักทอผสมผสานกับลวดลายภูมิปัญญาพื้นถิ่นตามความคิดสร้างสรรค์ต่อไป”
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน ได้ดำเนินการขับเคลื่อนและขยายผลโครงการตามแนวพระดำริ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ไปยังทั่วทุกภูมิภาคของประเทศเพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ที่มั่นคง ยังผลให้ช่างทอผ้า ช่างหัตถกรรม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ด้วยสำนึกในพระกรุณาธิคุณ ที่ทรงมีต่อเหล่าปวงชนยาวไทยปวงข้าพระพุทธเจ้าขอน้อมนำแนวพระดำริในการเพิ่มคุณค่า และมูลค่าผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้สามารถก้าวสู่ระดับสากล เพื่อวิถีชุมชนที่ยั่งยืน อันเป็นพลังที่จะสืบสานความเป็นไทยและสร้างสรรค์คุณประโยชน์แก่ประเทศชาติสืบไป
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ