เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2567 นายพันธ์ทอง ลอยกุลนันท์ ที่ปรึกษาด้านการพัฒนาและบริหารการจัดเก็บภาษี ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร เปิดเผยว่า ตามที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดทั้งการผลิต การนำเข้า การส่งออก การนำผ่าน และการลักลอบจำหน่าย โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการการทำงานร่วมกันเพื่อปราบปรามยาเสพติดอย่างเข้มงวด และเร่งด่วน อีกทั้ง ยังมีนโยบายให้ความสำคัญกับการป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มงวด เพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน นายธีรัชย์ อัตนวานิช อธิบดีกรมศุลกากร จึงกำชับให้เจ้าหน้าที่เพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าและส่งออกยาเสพติดทุกช่องทาง
โดยกรมศุลกากร สนธิกำลังกับหน่วยสกัดกั้นยาเสพติดทางท่าอากาศยานนานาชาติ (Airport Interdiction Task Force: AITF) ประกอบด้วย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย เฝ้าระวังและติดตามการกระทำผิดดังกล่าวอย่างเข้มงวด ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 กรมศุลกากรโดยเจ้าหน้าที่กองสืบสวนและปราบปราม และสำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ตรวจยึดยาเสพติดที่เตรียมการลักลอบส่งออกไปนอกราชอาณาจักร ณ ศูนย์ไปรษณีย์สุวรรณภูมิ พบพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศมีความเสี่ยงสูง สำแดงชนิดสินค้า เป็น “Sarong” จำนวน 1 หีบห่อ น้ำหนักรวม 8.220 กิโลกรัม ปลายทางประเทศออสเตรเลีย จึงทำการเปิดตรวจกล่องพัสดุ ผลปรากฏว่า พบยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 1 ไอซ์ (Methamphetamine) ซุกซ่อนอยู่ในสาบเสื้อและชายเสื้อพื้นเมือง น้ำหนักรวมสิ่งห่อหุ้มประมาณ 2,200 กรัม มูลค่า 1,320,000 บาท เป็นความผิดตามมาตรา 242 244 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566 – 14 มีนาคม 2567) กรมศุลกากรมีสถิติการจับกุมยาเสพติดทั้งสิ้น 71 ราย มูลค่ารวมกว่า 406.43 ล้านบาท
โฆษกกรมศุลกากร กล่าวต่ออีกว่า ในส่วนของการปราบปรามการลักลอบนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า อธิบดีกรมศุลกากรได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เร่งตรวจค้นร้านค้าในเขตใกล้กับชุมชนหรือโรงเรียน โดยเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา กรมศุลกากร โดยกองสืบสวนและปราบปราม ลงพื้นที่ในเขตตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เพื่อตรวจสอบร้านค้าที่ได้รับเบาะแสว่ามีการลักลอบนำสินค้าที่มิได้เสียภาษีอากรและไม่ผ่านพิธีการศุลกากรโดยถูกต้องมาจำหน่าย พบร้านค้าจำนวน 5 ร้าน มีบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ฟ้า จำหน่ายอยู่ภายในร้าน มูลค่ารวมกว่า 1,116,000 บาท โดยมีรายละเอียดการเข้าตรวจค้น ดังนี้
1.ร้านค้า Smoking Area ตั้งอยู่ในตลาดเมืองนอกมาร์เก็ต พบบุหรี่ไฟฟ้า 300 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 1,020 ชิ้น รวมจำนวน 1,320 ชิ้น มูลค่า 220,000 บาท
2.ร้านค้าฮันนี่ บีช็อป ถนน นฐ 4006 พบบุหรี่ไฟฟ้า 495 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 1,825 ชิ้น อุปกรณ์และอื่นๆ 79 ชิ้น รวมจำนวน 2,056 ชิ้น มูลค่า 390,000 บาท
3.ร้านค้าบ้านควันหอม พบบุหรี่ไฟฟ้า 70 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 206 ชิ้น และอุปกรณ์อื่นๆ 60 ชิ้น รวมจำนวน 336 ชิ้น มูลค่า 55,000 บาท
4.ร้านค้า Elephant 7 ตั้งอยู่ในตลาดเมืองนอกมาร์เก็ต พบบุหรี่ไฟฟ้า 315 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 1,767 ชิ้น และอุปกรณ์อื่นๆ 587 ชิ้น รวมจำนวน 3,939 ชิ้น มูลค่า 380,000 บาท
5.ร้านค้า NIC50 พบบุหรี่ไฟฟ้า 178 ชิ้น น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 73 ชิ้น และอุปกรณ์อื่น ๆ 16 ชิ้น รวมจำนวน 267 ชิ้น มูลค่า 71,000 บาท
นอกจากนี้ กรมศุลกากรยังให้หน่วยงานในพื้นที่ตามด่านต่างๆ เข้มงวดในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2567 สำนักงานศุลกากรภาคที่ 2 ร่วมกับ กองสืบสวนและปราบปราม และด่านศุลกากรมุกดาหาร ตรวจสอบรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ ณ ด่านศุลกากรมุกดาหาร พบ ตัวเครื่องบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 570 ชิ้น มูลค่า 201,267 บาท และเมื่อวานนี้ (วันที่ 14 มีนาคม 2567) สำนักงานศุลกากรภาคที่ 4 ได้เข้าตรวจค้นพัสดุในบริษัทขนส่งเอกชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา พบ บุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า เครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้าใช้แล้วทิ้งและเครื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวม 1,969 ชิ้น มูลค่ากว่า 500,000 บาท
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นความผิดตามมาตรา 242 246 และมาตรา 252 ประกอบมาตรา 166 และมาตรา 167 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง โดยในปีงบประมาณ 2567 (1 ตุลาคม 2566–14 มีนาคม 2567) กรมศุลกากรสามารถจับกุมผู้กระทำความผิดในการลักลอบนำบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า และอุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 141 ราย ปริมาณ 183,737 ชิ้น มูลค่า 24.10 ล้านบาท