วันที่ 14 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น. นายธนณัฐ อาจิณกิจ นายอำเภอพัฒนานิคม พร้อมด้วย นายสัตวแพทย์คณิณ วงศารัตนศิลป์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการ กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี นายโอฬาร นวานุช ปศุสัตว์อำเภอพัฒนานิคมและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและได้ร่วมกันนำน้ำยาเข้ามาฉีดพ่นฆ่าเชื้อ เพื่อกำจัดแมลงตัวพาหะนำเชื้อโรค เช่น ยุง เห็บ หมัด บริเวณคอกวัว ณ มาลินฟาร์ม หมู่ 4 ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งเป็นฟาร์มโคนมขนาดใหญ่ในพื้นที่ หลังพบมีการระบาดในพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงซึ่งติดกับอำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี เพื่อเป็นเป็นการป้องกันในเบื้องต้น
นายธนณัฐ อาจิณกิจ นายอำเภอพัฒนานิคม กล่าวว่า จากการสถานการณ์การระบาดของโรค“ลัมปีสกิน”ในวัวของจังหวัดใกล้เคียงซึ่งอำเภอพัฒนานิคมเป็นเขตติดต่อกับพื้นที่ ๆ มีการระบาด อีกทั้งอำเภอพัฒนานิคมเป็นอำเภอที่เลี้ยงโคนม โคเนื้อและกระบือ เป็นอันดับหนึ่งของจังหวัดลพบุรี ซึ่งมีประมาณ 53,000 ตัว ขณะนี้ยังไม่มีรายงานว่าพบสัตว์ป่วยเป็นโรคดังกล่าวแต่อย่างใด แต่หากพบพื้นที่ใดในอำเภอว่ามีการระบาดก็สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอพัฒนานิคม ซึ่งในช่วงนี้ทางอำเภอได้ร่วมรณรงค์ในการหยุดการแพร่ระบาดโดยการพ่นยาฆ่าเชื้อ
ด้าน นายสัตวแพทย์คณิณ วงศารัตนศิลป์ ปศุสัตว์อำเภอพัฒนานิคม กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ของโรค ณ ตอนนี้พบระบาดในพื้นที่บางส่วนของ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ในส่วนของพื้นที่ จ.ลพบุรี ยังไม่พบการระบาดของโรคสัมปีสกิน แต่อย่างไรก็ตาม ทางปศุสัตว์จังหวัดลพบุรีร่วมกับปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอลงพื้นที่เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin) เกิดจากเชื้อไวรัส โดยเฉพาะโคเนื้อ โคนม กระบือ โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายโดยผ่านแมลงพาหนะนำโรคที่สำคัญ ได้แก่ ยุง แมลงวันดูดเลือดเหลือบ และเห็บ เป็นต้น ประกอบกับประเทศไทยมีสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของแมลงดังกล่าว จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการพบการเกิดโรคลัมปี สกิน โดยเฉพาะในลูกสัตว์ เกิดใหม่หรือสัตว์ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน มาก่อน ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่เกษตรกรอย่างมาก ทั้งนี้โรคนี้ไม่ได้เป็นโรคติดต่อระหว่างสัตว์สู่คน
ลักษณะอาการที่สำคัญคือ สัตว์ป่วยจะมีตุ่มหรือก้อนบวมแข็ง และอาจแตกเป็นแผลตกสะเก็ดตามผิวหนัง หรือมีต่อมน้ำเหลืองโตนูน อาจมีไข้สูง ซึม เบื่ออาหาร บางครั้งพบก้อนเนื้อเป็นแผลในจมูก ปากและตา ทำให้โค กระบือมีน้ำมูกข้น มีน้ำลายและน้ำตาไหล โดยที่สัตว์ป่วยจะขับเชื้อทางสะเก็ดแผล น้ำมูก น้ำตา น้ำเชื้อและน้ำนม โค กระบือทุกช่วงอายุ ทุกสายพันธุ์มีความไวต่อโรคได้ แต่อาการจะรุนแรงในลูกสัตว์หรือสัตว์ที่อ่อนแอ
การป้องกันโรคลัมปีสกิน ฉีดวัคซีนให้กับโค กระบือเพื่อให้สัตว์มีภูมิคุ้มกันต่อโรค ซึ่งสามารถทำการฉีดได้ทั้งวัคซีนชนิดเชื้อเป็นและวัคซีนชนิดเชื้อตาย การควบคุมและกำจัดแมลงพาหะ เช่น ใช้ยาไล่แมลงราดตัวสัตว์ พ่นยาฆ่าแมลงบริเวณคอกหรือสถานที่เลี้ยงสัตว์ กางมุ้ง เข้มงวดในการนำเข้าโคและกระบือ รวมทั้งซากสัตว์จากพื้นที่เสี่ยงโรคระบาดของโรคแยกสัตว์ที่นำเข้ามาเลี้ยงใหม่อย่างน้อย 14 วัน หากพบสัตว์ป่วยที่แสดงอาการ
ป่วย ให้แยกสัตว์ออกจากฝูงเพื่อลดการแพร่ระบาดของโรคในฝูงสัตว์ ทั้งนี้หากพบสัตว์แสดงอาการป่วยหรือตายผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในพื้นที่ หรือ ผ่านทาง Application DLD 4.0 หรือโทรศัพท์สายด่วน 063-225-6888 เพื่อให้การช่วยเหลือเกษตรกรได้อย่างทันท่วงที
นันท์นภัส ลิ้มนุสนธิ์
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลางหนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ