วันที่ 8 มีนาคม 2567 เวลา 13.30 น.ที่ ห้องประชุมสภาเทศบาลเมืองอรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว คณะกรรมาธิการ กิจการศาล องค์กรอิสระ องค์กรอัยการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุน สภาผู้แทนราษฎร นำโดย นายสัญญา นิลสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการฯ พร้อมด้วย นางสาวเบญจา แสงจันทร์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่หนึ่ง นายสุรเกียรติ เทียนทอง รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่สอง นายจรยุทธ จตุรพรประสิทธิ์ รองประธานคณะกรรมาธิการคนที่สี่ นายศักดิ์ ชารัมย์ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นายธีรัจชัย พันธุมาศ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการ นายรัชต์พงศ์ สร้อยสุวรรณ โฆษกคณะกรรมาธิการ นางสาวลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ โฆษกคณะกรรมาธิการ นางสาวพนิดา มงคลสวัสดิ์ โฆษกคณะกรรมาธิการ นายซาการียา สะอิ เลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่หนึ่ง นายอนุสรณ์ แก้ววิเชียรเลขานุการคณะกรรมาธิการ คนที่สอง นอกจากนี้ยังได้รับเกียรติจากดร.หิมาลัย ผิวพรรณ ที่ปรึกษาประธานคณะกรรมาธิการ และคณะฯ ร่วมประชุมและลงพื้นที่ตรวจสอบกรณี”การพาดสายสื่อสารข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน”
โดยมี นายเชาวเนตร ยิ้มประเสริฐ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายชรินทร์ ภู่ชัย นายอำเภออรัญประเทศ นายกรณ์ปิยวัช ธนัชวัฒนเวธน์ รองนายกเทศมนตรีเมืองอรัญประเทศ นายพัฒนา ณ สงขลา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) นายสุธีระ พึ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแล กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ต.อ.อโณทัย จินดามณี ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองลึก พ.ต.อ.ณภัทรพงศ สุภาพร ผู้กำกับการตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสระแก้ว และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ร่วมให้การต้อนรับและเข้าร่วมประชุมพร้อมร่วมลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงจุดรับ – ส่งสัญญาณโทรคมนาคม และพื้นที่ใกล้เคียงตลอดแนวชายแดน เพื่อหาทางแก้ไขกรณีการพาดสายสื่อสารข้ามพรมแดนไปยังราชอาณาจักรกัมพูชาเพื่อเป็นการป้องกันการก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์
ทางด้าน นายสัญญา นิลสุพรรณ ประธานคณะกรรมาธิการฯ เปิดเผยว่า เนื่องจากคณะกรรมาธิการฯได้รับหนังสือร้องเรียนว่า พบว่ามีสายสื่อสารพาด ข้ามพรมแดนจากชายแดนไทยบริเวณตำบลคลองลึก อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ผ่านไปยังราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งไม่ทราบข้อเท็จจริงว่าเป็นสายสัญญาณที่อยู่ในความครอบครองของหน่วยงานใด และยังสามารถใช้การได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปัญหาการหลอกลวงประชาชนผ่านระบบออนไลน์โดยอาศัยเครือข่ายสัญญาณอินเตอร์เน็ตที่ตั้งอยู่ตามแนวชายแดนไทยในการก่ออาชญากรรมไซเบอร์ เพื่อหลอกลวงประชาชนให้ได้รับความเสียหาย หลงเชื่อโอนเงิน หรือทำธุรกรรมทางการเงิน ส่งผลให้เกิดความเสียหายทั้งต่อประชาชน และภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยพบว่ามีความเสียหาย
ที่เกิดขึ้นจากการหลอกลวงผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวประมาณปีละกว่าห้าหมื่นล้านบาทต่อปี จึงนับได้ว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไขโดยด่วน ดังนั้นทางคณะกรรมาธิการฯ ในฐานะที่กำกับดูแลหน่วยงานราชการ องค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และกองทุนฯ จึงได้ลงพื้นที่มาร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อรับทราบข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการโทรคมนาคม สื่อสาร เช่น นโยบายการรับส่งสัญญาณสื่อสารข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ การอนุญาตและกำกับ ดูแลกิจการโทรคมนาคม การอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่และเครื่องวิทยุคมนาคม ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ตลอดจนการให้บริการสื่อสารข้ามพรมแดนระหว่างประเทศ พร้อมข้อเท็จจริงการดำเนินงานของหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการพาดสายสื่อสาร การตั้งเสารับ-ส่งสัญญาณสื่อสาร ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาพที่ปรากฎว่ามีการพาดสายสื่อสารข้ามพรมแดนจากฝั่งชายแดนไทยไปยังประเทศกัมพูชา พร้อมทั้งรับทราบสถิติการเดินทางข้ามพรมแดนของบุคคลทั้งชาวไทยและต่างประเทศ รวมทั้งเพื่อรับทราบสถิติการแจ้งความเกี่ยวกับกรณีอาชญากรรมทางไซเบอร์ และการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้เสียหายและเพื่อรับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางไซเบอร์ ที่อาจใช้ชายแดนไทยเป็นฐานในด้านการรับ-ส่งสัญญาณสื่อสารนอกจากนี้ทางคณะฯได้ลงพื้นที่ตรวจสอบกรณีดังกล่าวบริเวณจุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก พร้อมเร่งแก้ไขเพื่อเป็นประโยชน์ของประเทศชาติและพี่น้องประชาชนคนไทยต่อไป” นายสัญญาฯ กล่าว