เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 09.30 น. ที่ ศูนย์พักพิงร่วมใจอุ่นไอรัก ที่ว่าการอำเภอขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช นางสาววิมลมาศ นุ้ยภักดี หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดขนอม – หมู่เกาะทะเลใต้ พร้อมด้วย นายเทอดไทย ขวัญทอง ผอ.สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายจรัล ด้วงแป้น ผอ.ส่วนอุทยานแห่งชาติ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 (นครศรีธรรมราช) เข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อมูลและการรับฟังความคิดเห็นกรณีมีการคัดค้านการประกาศเขตจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้ โดยมี นายฐิติวัชร บุญกิจ นายอำเภอขนอม เป็นประธานการประชุม
สืบเนื่องจากอำเภอขนอมได้รับข้อร้องเรียนจากกลุ่มประมงชายฝั่งว่าการประกาศพื้นที่อุทยานกระทบต่อสิทธิ์และเสรีภาพในการประกอบอาชีพของชุมชนในการใช้ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และหนังสือร้องเรียนจากนายสุทธิพันธ์ นุรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิสภาเกษตรกร จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เรียกร้องให้อำเภอจัดประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการคัดค้านการประกาศอุทยาน รวมถึงได้แนบ สำเนา สปก.4-01 ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการประกาศเขตอุทยานมาด้วย
ซึ่งมีแกนนำต่างๆได้ระดมมวลชนเข้าร่วมรับฟังประมาณ 350 คน จาก อ.ขนอม อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช อ.ดอนสัก และ อ.เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการประกาศอุทยานทั้งหมดหรือไม่ เนื่องจากแกนนำได้นำเอาเอกสารเซ็นชื่อเข้าร่วมประชุมออกไปและไม่ให้มีการเซ็นชื่อ โดยอ้างว่ากลัวว่าทางอุทยานจะเอาไปเปลี่ยนแปลงใช้ประโยชน์สนับสนุนการประกาศอุทยานฯ
โดยหัวหน้าอุทยานแห่งชาติฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงอย่างละเอียดว่า พื้นที่เตรียมการประกาศเริ่มแรกเมื่อปี 2533 มีเนื้อที่ 197,614 ไร่ ได้ผ่านความเห็นชอบให้จัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติจากคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการลักลอบทำลายทรัพยากรป่าไม้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ไปแล้ว และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติในปี 2546 ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งให้แก้ไขพื้นที่ทับซ้อนกับหน่วยงานและที่ดินอื่นๆ ในปี 2551 และปี 2561 เพื่อให้ได้ข้อยุติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ในปัจจุบันได้แก้ไขปัญหาโดยกันออกพื้นที่ทับซ้อนต่างๆ ทั้งกับหน่วยงานรัฐ เอกสารสิทธิ์ที่ดิน และพื้นที่ทำกินอย่างต่อเนื่องของราษฎรก่อนปี 2541 และ 2557 รวมถึงพื้นที่คัดค้านต่างๆ ไปแล้ว คงเหลือพื้นที่ที่จะประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ เนื้อที่ 125,817 ไร่ โดยมีการกันออกพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ปี 2551 – 2566 จำนวน 73,197 ไร่ แม้แต่รายที่แนบเอกสาร สปก.4-01 มาร้องเรียนก็ไม่ได้อยู่ในพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานฯ
ซึ่งพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานในทะเล ไม่ได้ลิดรอนสิทธิ์ของชุมชนในการทำประมงพื้นบ้าน เพราะมีมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2544 และ พรก.การประมง พ.ศ. 2558 คุ้มครองสิทธิ์ของการทำประมงพื้นบ้านในเขต 3 ไมล์ทะเลหรือ 5.4 กิโลเมตร จากแนวชายฝั่ง รวมถึงอุทยานฯ ได้จัดทำร่างแผนการบริหารจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่ได้กำหนดเขตกิจกรรมพิเศษ 2 ให้ทำประมงพื้นบ้านของชุมชนสอดคล้องตาม พรก.การประมง พ.ศ.2558 ไว้ด้วย
สำหรับหย่อมป่าต่างๆทั้งหมดที่จะประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติคือพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและป่าตาม พรบ.2484 จะเป็นพื้นที่ปลอดภัย เป็นบ้านหลังสุดท้ายของสัตว์ป่าที่พบ เช่น เลียงผา กวาง หมูป่า ค่างแว่นถิ่นใต้ ฯลฯ และทะเล หมู่เกาะ และชายหาดที่เหลืออยู่ซึ่งเตรียมการประกาศเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จะเป็นบ้านของโลมาสีชมพูและเต่าทะเล เป็นพื้นที่ที่คนไทยทุกคนได้เข้าถึงกิจกรรมนันทนาการอย่างเท่าเทียมและจัดการภายใต้หลักการจัดการอุทยานแห่งชาติที่เป็นหลักการสากลทั่วโลก เพื่อคุ้มครองพื้นที่ดังกล่าวอย่างยั่งยืนตลอดไป
โดยผู้เข้าร่วมประชุมรับฟังการชี้แจงแต่ยังคงไม่เห็นด้วยกับการประกาศอุทยานแห่งชาติ โดยมีตัวแทนหมุนเวียนกันขึ้นพูด และส่วนใหญ่เป็นการอ้างอิงกรณีที่มีปัญหาของอุทยานอื่นๆ และไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า จุดที่มีปัญหาทับซ้อนคือที่ใด และไม่ยอมรับว่าจะทำประมงพื้นบ้านตามที่กฎหมายแจ้งได้จริง และได้ร่วมกันยกมือลงมติเป็นเอกฉันท์คัดค้านการประกาศจัดตั้งอุทยานแห่งชาติหาดขนอม-หมู่เกาะทะเลใต้
ทั้งนี้ หัวหน้าอุทยานฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า นี่เป็นการมาร่วมประชุมชี้แจงกรณีข้อร้องเรียนตามที่อำเภอได้เชิญมา ยังไม่ถือเป็นการรับฟังความคิดเห็นในการประกาศพื้นที่อุทยาน เพราะยังไม่ได้ดำเนินการครบถ้วนตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในการกำหนดพื้นที่ การขยาย และการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน สวนพฤกษศาสตร์ และสวนรุกขชาติ พ.ศ.2564