วันที่ 6 มีนาคม 2567 เวลา 10.00 น. นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี เป็นประธานเปิดมหกรรมการออม 50 ปี ทุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (ส่วนภูมิภาค) โดยมี นางประทีป ตัณฑะตะนัย พัฒนาการจังหวัดสิงห์บุรี หัวหน้าส่วนราชการ ผู้อำนวยการกลุ่มงาน พัฒนาการอำเภอ เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนรับผิดชอบงานทุนชุมชน คณะกรรมการ และสมาชิกกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ร่วมกิจกรรมฯ ณ เรือนไทยหัตถศิลป์ อำเภอเมืองสิงห์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี เนื่องในวาระครบ 50 ปี วันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ตั้งแต่ ปี 2517 โดยการนำของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ยุวัฒน์ วุฒิเมธี อดีตอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน โดยได้เริ่มทดลองดำเนินการครั้งแรก เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2517 จำนวน 2 แห่ง ได้แก่บ้านในเมือง หมู่ที่ 5 ตำบลละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล และบ้านขัวมุง หมู่ที่ 6 ตำบลขัวมุง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ และในโอกาสต่อมา กรมการพัฒนาชุมชนจึงกำหนดให้วันที่ 6 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันคล้ายวันก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต โดยกำหนดให้วันที่ 6-8 มีนาคม ของทุกปี เป็นสัปดาห์รณรงค์การประหยัด และการออมของประชาชน กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นกองทุนชุมชนที่สำคัญ ที่กรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ประชาชนมารวมกลุ่มกันออมเงินตามศักยภาพของตนเอง เป็นการสร้างหลักประกัน สร้างภูมิคุ้นกันให้แก่สมาชิก สามารถต่อยอดธุรกิจชุมชน เพื่อนำผลกำไรไปพัฒนาและจัดสวัสดิการให้ชุมชน ปัจจุบันเรียกได้ว่ากลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นแกนหลักสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ร่วมกันแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน นำสู่การลดหนี้ ปลดหนี้ สร้างงานสร้างอาชีพให้ครัวเรือนสามารถแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อพัฒนาคนให้มีศักยภาพในการบริหารจัดการชุมชน
จังหวัดสิงห์บุรี กำหนดจัดมหกรรมการออม 50 ปี ทุนชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (ส่วนภูมิภาค) ในวันนี้ โดยกรมการพัฒนาชุมชน มุ่งส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน และภารกิจของกระทรวงมหาดไทย ในการ “บำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชน” กลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตได้ดำเนินการมาครบรอบ 50 ปี นับเป็นระยะเวลาแห่งความสำเร็จของการดำเนินงานกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต เป็นแหล่งทุนชุมชน ในการประกอบอาชีพของสมาชิก และเป็นช่องทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับครัวเรือนเป้าหมายที่ตกเกณฑ์ความจำเป็นขั้นพื้นฐาน (จปฐ.) และ TPMAP ก่อให้เกิด “ชุมชนเกื้อกูล เพิ่มพูนสามัคคี วิถีพอเพียง” ส่งเสริมความรู้และวินัยทางการเงิน รู้จักการประหยัด อดออม สะสมเป็นทุนและหลักประกันในการประกอบอาชีพ มีภูมิคุ้มกัน ในการดูแลคุณภาพชีวิตส่งผลต่อการพัฒนาของชุนชนครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการส่งเสริมประชาธิปไตย ตลอดจนวิธีการดำรงชีวิตของคนในชุมชน ซึ่งเป็นรากฐานในการพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง
กชกร พวยไพบูลย์
ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจ้งหวัดสิงห์บุรี