แม้ว่า ก่อนหน้านี้ นายฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา ซึ่งถือว่ามีอิทธิลสูงสุดในกัมพูชา เคยเปิดเผยหลังเข้าเยี่ยมนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งได้รับการพักโทษอยู่ที่บ้านจันทร์ส่องหล้า บอกว่า ได้เชิญ น.ส.แพทองธาร ไปเยือนกัมพูชาในวันที่ 14-15 มีนาคม ก็ตาม แต่เมื่อ นายเศรษฐา เปิดเผยกำหนดการที่แน่นอนดังกล่าว ก็ต้องเชื่อตามนั้น
แต่อย่างไรก็ตาม จะเป็นวันไหนไม่สำคัญเท่ากับ “สถานะ” ของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ว่า เธอไปในฐานะอะไร ในฐานะส่วนตัว ฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หรือ “ในฐานะนายกฯ” หรือว่าไปในฐานะ “ตัวแทนพ่อ” หรือเปล่า
แม้ว่าในทางนิตินัยแล้ว คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีในเวลานี้ยังเป็น นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ตาม แต่สังคมก็มองไปในทางเดียวกันว่า อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ น.ส.แพทองธาร ที่ส่งผ่านมาจาก นายทักษิณ ชินวัตร อีกทอดหนึ่ง
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณีที่ นายฮุน เซน ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ไปเยือนกัมพูชาในวันที่ 18-19 มี.ค.นี้ ว่า ความสัมพันธ์ของสองประเทศเป็นไปได้อย่างเดียว คือ ดีขึ้น เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าแขกคนสำคัญที่มาเยี่ยมนายทักษิณ คือ สมเด็จฮุนเซน ขณะที่ น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ถือว่า มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองประเทศ ทั้งระดับผู้นำและประชาชน เชื่อว่า ไม่มีอะไรเสียหายแน่นอน และตนก็ให้การสนับสนุนและยินดีด้วย
แน่นอนว่า การเดินทางเยือนกัมพูชาของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ที่แม้ว่าจะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่ก็จะถูกมองว่า นี่คือ “ว่าที่นายกรัฐมนตรี” หรือนายกรัฐมนตรีตัวจริง นั่นเอง เพราะในฐานะ “ลูกสาว” ของ นายทักษิณ ชินวัตร ที่ถือว่าเป็น “ทายาทสายตรง” ของเขาในเวลานี้ และเป้าหมาย ก็คือ เป็นนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการในอีกไม่นานข้างหน้า
นอกเหนือจากนี้ ที่ต้องจับตากันอีกประเด็นสำคัญ ก็คือ จะมีการหารือ หรือเจรจากันใน “เรื่องใดเป็นพิเศษ” หรือไม่ โดยเฉพาะในเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะอย่างที่หลายคนเข้าใจกันดีว่า ผู้นำรัฐบาลกัมพูชา โดยเฉพาะนายฮุนเซน ที่มีอิทธิพลสูงสุดในประเทศนั้น มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับนายทักษิณ ชินวัตร มาอย่างยาวนาน โดย นายฮุน เซน เป็นคนเปิดเผยเองว่า รู้จักสนิทสนมกันมานานกว่า 30 ปี และสถานะทางครอบครัวก็ถือว่าเป็น “ดอง” กันอีกด้วย เนื่องจากลูกสาวของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวของ นายทักษิณ ไปแต่งงานกับเครือญาติของนายฮุนเซน นั่นเอง
ที่ผ่านมา สำหรับ นายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา เคยใช้กัมพูชาเป็นฐานทางการเมือง โฟนอินเข้ามาปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดง ในระหว่างการชุมนุมเมื่อหลายปีก่อน
อย่างไรก็ดี สาเหตุที่เชื่อว่า การเดินทางไปกัมพูชาของ น.ส.แพทองธาร ในครั้งนี้ น่าจะมีเรื่องสำคัญมาพูดคุยกันด้วย โดยเฉพาะในเรื่องทางธุรกิจบางอย่าง และที่ผ่านมา เมื่อหลายปีก่อน นายทักษิณ ชินวัตร ก็เคยไปลงทุนด้านโทรคมนาคมในประเทศกัมพูชา และหากยังจำเหตุการณ์เผาสถานทูตไทยในกัมพูชา ที่บริษัทของเขาก็ได้รับความเสียหายไปด้วย จนต้องมีการเรียกค่าชดเชยกลับมา
ขณะเดียวกัน หากย้อนไปเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา คนปัจจุบัน ซึ่งเป็นลูกชาย ของนายฮุนเซน ก็เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการไปแล้ว โดยมีการหารือกันในหลายเรื่อง ทั้งการค้าชายแดน การแก้ปัญหาพวกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และมีเรื่องการเจรจาเขต “พื้นที่ทับซ้อนในทะเล” ปัญหาเขตแดนอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งประเด็นหลังนี่แหละที่จะกลายเป็นจุดสนใจขึ้นมาอีก
เพราะที่ตรงนั้นนอกจากเคยเป็นพื้นที่พิพาท และการอ้างสิทธิ รวมทั้งเชื่อกันว่า อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ที่ผ่านมา ระหว่างการเยือนของ นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ระหว่างการพบกับ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการหารือกันในเบื้องต้นไปแล้ว และมีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหารือกันต่อเพื่อหาข้อยุติ และมีการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้เพื่อผลประโยชน์ร่วมกัน
ขณะเดียวกัน หากพิจารณาจากสถานะของ “ว่าที่นายกฯ” คนต่อไปแล้ว การเดินทางเยือนกัมพูชา ตามคำเชิญครั้งนี้ มองมุมหนึ่งก็เหมือนกับการ “ไปแนะนำตัว” ในฐานะผู้นำคนต่อไปหรือไม่ และไปเจรจากันใน “บางเรื่อง” ที่น่าจะสำคัญและไปในฐานะ “ตัวแทน” ของพ่อ หรือเปล่า
เพราะหากปะติดปะต่อกันแล้วมันมี “พิรุธ” หลายอย่าง ทั้งการมาเยี่ยมถึงบ้าน “จันทร์ส่องหล้า” ของ นายฮุน เซน เป็นคนแรกเมื่อวันก่อน พร้อมกับการเชิญ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ไปเยือนอีกครั้ง จากนั้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เข้าพบ นายทักษิณ นานเกือบสองชั่วโมง พร้อมกับการเปิดเผยกำหนดการเยือนกัมพูชาของ น.ส.แพทองธาร อย่างเป็นทางการ
หากพิจารณาจากเหตุผล และความจำเป็นสำหรับการเยือนกัมพูชา หากมองกันตามหลักการในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อไทย จะไปกระชับความสัมพันธ์กับ “พรรคประชาชนกัมพูชา” ของ นายฮุนเซน มองในมุมไหนมันก็ไม่น่าจำเป็นถึงขนาดนั้น และที่สำคัญก็ไม่น่าจะใช่วาระเร่งด่วนอะไรนัก
ดังนั้น หากพิจารณากันถึงความเป็นไปได้ ก็น่าจะมีอยู่เรื่องหลักเรื่องเดียว คือ ไปในฐานะ “ตัวแทนพ่อ” เพื่อตกลง “อะไรบางอย่าง” ที่ถือว่าต้องสำคัญมากทีเดียว และต้องไปดำเนินการหลังจากที่ นายฮุนเซน มาคุย และเดินทางกลับไปแล้ว อีกทั้งคราวนี้ก็ยังไปเปิดตัวในฐานะว่าที่นายกรัฐมนตรีคนต่อไปหรือไม่ แต่เชื่อเถอะ เมื่อถึงตอนนั้นน่าจะถูกเปิดเผยออกมาให้เห็นแน่นอน !!