วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.30 น.ที่ศูนย์รับเรื่องร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือถึงนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่าน นายพันศักดิ์ เจริญ ผู้เชี่ยวชาญด้านมวลชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ตรวจสอบนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ได้รับรถเบนซ์ ๒ คัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งกรรมาธิการฯ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานของรัฐและกรณีที่เกี่ยวข้อง โดยนายวัชระ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า
ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามสื่อมวลชนและเฟสบุ๊ค “เรืองไกร นกมรจ” และ “เรืองไกร สื่อใดใด” ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้รับรถเบนซ์ทั้งสองคันขณะเป็นโฆษกกรรมาธิการงบประมาณ เมื่อวันที่ ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๖๔ และ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๖๕ ตามสำเนาภาพที่แนบมานี้ จึงถือว่าเป็น “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และปัจจุบันนายเรืองไกรฯ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ ในสัดส่วนของพรรคพลังประชารัฐโดยมีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค ตามมติที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ ๒๖ ปีที่ ๑ ครั้งที่ ๕ วันที่ ๓-๕ มกราคม ๒๕๖๗ จึงอาจมีการกระทำที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย ป.ป.ช. และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒
ข้าพเจ้าในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีจึงขอร้องเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีว่านายเรืองไกรฯ อาจมีความผิดจากกรณีการครอบครองรถเบนซ์ จำนวน ๒ คัน ได้แก่ รถเบนซ์สีดำจดทะเบียนในนามของนายเรืองไกรฯ และสีขาวไม่ทราบว่าจดทะเบียนในนามของผู้ใด (ปรากฏข่าวตามสื่อมวลชนจากการให้สัมภาษณ์ของนายเรืองไกรฯ
ว่าผู้ใหญ่ใจดีซื้อให้) และหลังจากนายเรืองไกรได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรีให้ดำรงตำแหน่ง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ….. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเฟสบุ๊คของนายเรืองไกร “เรืองไกร สื่อใดใด” นายเรืองไกรได้รับแคชเชียร์เช็คธนาคารกรุงเทพ สาขาถนนประดิพัทธ์ เลขที่ ๐๐๐๙๐๙๘๒ ลงวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔ (วันที่ 22 เดือน 02 ค.ศ. 2021) สั่งจ่ายชื่อ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ จำนวนเงิน ๒๕ ล้านบาท โดยขณะเกิดเหตุรับแคชเชียร์เช็ค นายเรืองไกรเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ รับเช็คมาจากผู้ใด สาเหตุใดเพราะมีมูลค่าสูงมากซึ่งผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพสามัญทั่วไป
จากข้อเท็จจริงดังกล่าวมีเหตุอันควรสงสัยว่า นายเรืองไกรจะได้รับทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานเนื่องจาก การเป็นกรรมาธิการถือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐจึงเข้าข่ายความผิดมูลฐานตามมาตรา ๓ (๕) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ และหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบแล้วพบว่าทรัพย์สินที่นายเรืองไกรรับไปเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริต การกระทำดังกล่าวอาจเข้าข่ายเป็นความผิดอาญาฐานฟอกเงินตามมาตรา ๕ (๓) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว เนื่องจากเป็นการได้ทรัพย์สินมาโดยรู้ในขณะที่ได้มาว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานทุจริต ซึ่งมีโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึง ๑๐ ปี อีกฐานหนึ่งด้วย
ดังนั้นขอให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของฝ่ายบริหาร โปรดพิจารณามอบหมายให้หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายเป็นผู้แทนในการสอบทานและตรวจสอบว่ารถเบนซ์ จำนวน ๒ คัน และแคชเชียร์เช็ค จำนวนเงิน ๒๕ ล้านบาท ดังกล่าวนายเรืองไกรฯ เสียภาษีกับกรมสรรพากรหรือไม่ ที่ได้รับมาเกิดจากการรับทำงานให้ รับจ้างให้ใคร ซึ่งมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรได้เสียภาษีถูกต้องหรือไม่ หรือเป็นการได้มาจากการให้โดยเสน่หา และขอให้แจ้งกรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับการเสียภาษีจากการมีรายได้และทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ตรวจสอบกรรมาธิการงบประมาณฯ ชื่อนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ว่าเสียภาษีถูกต้องหรือไม่ และขอให้สอบเส้นเงินหรือธุรกรรมทางการเงินตลอดเวลาที่ดำรงตำแหน่งกรรมาธิการงบประมาณ และเสียภาษีให้รัฐครบถ้วนหรือไม่
ทั้งนี้ เนื่องจากผู้ถูกกล่าวหาเป็นนักร้องเรียนและได้รับแต่งตั้งจากสภาผู้แทนราษฎรให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ เป็นกรณีที่อยู่ในความสนใจของพี่น้องประชาชนทั้งประเทศ จึงขอให้ท่านดำเนินการตรวจสอบโดยเร็วที่สุดว่าผู้ถูกกล่าวหามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ เพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
เฟสบุ๊ค “เรืองไกร นกมรจ” และ “เรืองไกร สื่อใดใด” ของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ที่ผ่านมาเคยเผยแพร่ภาพถ่ายคู่กับรถเบนซ์สีดำและสีขาวพร้อมเผยแพร่อย่างเปิดเผยกับสาธารณะนั้น แต่บัดนี้ในปัจจุบันจากการสืบค้นทางอินเตอร์เน็ตปรากฏว่าไม่พบเฟสบุ๊คของนายเรืองไกรแล้ว มีเหตุเชื่อได้ว่านายเรืองไกรได้
ทำลายหลักฐานโดยปิดเฟสบุ๊ค “เรืองไกร นกมรจ” และ “เรืองไกร สื่อใดใด” ไปแล้วตามเอกสารที่แนบมาพร้อมนี้