เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมตัวทำหนังสือร้องเรียนถึงหน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลเรื่องการ “ฮั้วประมูล” โดยขอให้ตรวจสอบและดำเนินคดีในการทุจริตประกวดราคาจัดจ้างขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) โครงการจัดงานส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ปลายฝนต้นหนาว สุราษฎร์ธานี จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27-30 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ณ บริเวณจุดชมวิวเขื่อนรัชประภาและลานอเนกประสงค์หน้าเทศบาลตำบลบ้านเชี่ยวหลาน อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้งบประมาณในการจัดจ้าง 4,829,000 บาท
โดยพบพิรุธและหลักฐานในการทุจริต (ฮั้วประมูล) อาทิเช่น กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่ชนะการประมูล ได้โพสต์ข้อความในเฟสบุ๊คส่วนตัว ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2566 ระบุใจความว่า “เจอกานมกราคม 2567 กับงานปลายฝนต้นหนาว แบกเป้ขึ้นบ่า เก็บเสื้อผ้าแล้วไปเที่ยวเขื่อน จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี Organizer by บริษัท……….จำกัด” พร้อมมีการนำรูปภาพของศิลปินและวงดนตรีมาแจ้งให้ทราบอย่างละเอียดว่า จะขึ้นเล่นคอนเสิร์ตในงานเรียงตามลำดับวันไหน โดยเป็นวงดนตรีและศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศทั้งสิ้น ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่าจะต้องมีการนัดหมายพูดคุยจองคิวการแสดงกับวงดนตรีและศิลปินเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริง จะมีการประมูลราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ขึ้นในวันที่ 5 มกราคม 2567
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นคือ ข้อความและรายละเอียดที่ระบุอยู่ในรูปภาพของโพสต์เดียวกันด้วยว่า “ในวันที่ 29 มกราคม 2567 จะมีการประกวดนางงามมิสเชี่ยวหลาน” ซึ่งการที่กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่ชนะการประมูลจะโพสต์ข้อความยืนยันต่อสาธารณชนล่วงหน้าได้ตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคม 2566 ว่า ในวันที่ 29 มกราคม 2567 จะมีกิจกรรมประกวดนางงามมิสเชี่ยวหลานได้นั้น ในทางปฏิบัติบริษัทจะต้องมีการติดต่อกับคณะกรรมการที่มาตัดสินในการประกวดนางงาม รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งเป็นไปได้หรือที่บริษัทจะมั่นใจได้ว่าตนเป็นผู้ชนะ ทั้งที่การประมูลราคาจัดจ้างยังไม่เกิดขึ้น
อีกทั้ง ความไม่ชอบมาพากลที่แสดงให้เห็นถึงวิธีการปฏิบัติที่ไม่โปร่งใสมากที่สุด นั่นคือ เมื่อมีการยื่นประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) เรียบร้อยแล้ว โดยมีผู้ยื่นเสนอราคาหลายราย แต่กลายเป็นว่าไม่มีการประกาศผู้ชนะการประมูล แต่องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กลับออกประกาศให้มีการยกเลิกการประกวดราคาจัดจ้างในครั้งนี้ โดยให้เหตุผลว่า “มีผู้ยื่นข้อเสนอหลายราย แต่ถูกต้องตรงตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในเอกสารประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงรายเดียว” ซึ่งออกประกาศ ณ วันที่ 10 มกราคม 2567
ที่สำคัญ หลังจากที่มีการประกาศให้มีการยกเลิกการประกวดราคาจัดจ้างในวันที่ 10 มกราคม 2567 แต่ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี กลับไม่ได้ดำเนินการเปิดให้มีการประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) อีกครั้ง แต่กลับเลือกที่จะใช้วิธีการ “ประกวดราคาโดยวิธีเฉพาะเจาะจง” ซึ่งราคากลางที่กำหนดไว้ในการจัดจ้าง คือ 4,850,000 บาท (เป็นมูลค่าที่สูงกว่า 500,000 บาท ตามข้อกฎหมายกำหนดวิธีการไว้ให้ทำการประกวดราคาจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) อีกทั้งไม่มีเหตุผลจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องใช้วิธีการประกวดราคาโดยวิธีเฉพาะเจาะจงแต่อย่างใด)ซึ่งการกระทำลักษณะนี้เป็นการหลีกเลี่ยงการแข่งขันราคากันอย่างแท้จริง และเป็นธรรมอันเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เสนอราคาเฉพาะรายหรือไม่
จากพฤติการณ์และหลักฐานต่างๆ ที่เกิดขึ้น ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงทำหนังสือร้องเรียนไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาช่วยดำเนินการตรวจสอบผู้ที่มีส่วนรู้เห็นกับการฮั้วประมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทที่ชนะการประมูล ศิลปินและวงดนตรีทุกคนที่มาร่วมแสดงในงาน รวมไปถึง นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี ,นายนัฐพงษ์ เตี่ยมังกรพันธุ์ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบความโปร่งใสและความถูกต้องตามกฎหมายในการดำเนินงานขององค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี และเพื่อเป็นประโยชน์แก่ประชาชนชาวจังหวัดสุราษฎร์ธานี