เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 น. นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือผ่านนายนาเคน ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดถึงอัยการสูงสุด ให้สอบวินัยและจริยธรรม นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ กรณีพูดปกป้อง นช.ทักษิณ ชินวัตร และขอให้พ้นหน้าที่จากการดูแลคดีนี้ ที่สำนักงานอัยการสูงสุด
โดยนายวัชระได้มาแถลงข่าวที่รัฐสภาในเวลา 14.10 น.ว่า “…ตามที่นายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาตอบคำถามสื่อกรณีอาการป่วยนายทักษิณ ชินวัตร หมายเลขทะเบียนนักโทษ ๖๖๕๐๑๐๒๖๖๘ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมารับฟังคดีมาตรา ๑๑๒ ที่สำนักงานอัยการสูงสุดว่า “สภาพท่าน (ทักษิณ) ตามที่เห็นผมว่าป่วยขั้นวิกฤตเลย นั่งวีลแชร์มา ผมนั่งคุยกับท่านไม่มีมีเสียงเลยสภาพดูแล้วป่วยจริง ๆ จะเดินไม่ไหว” นั้น
การให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่เป็นกลางส่อพฤติกรรมด้วยวาจาว่าคุ้มครองปกป้องผู้ต้องหา ทั้งที่ไม่ได้จบแพทย์เป็นการให้ข่าวต่อสาธารณชนอย่างไม่เหมาะสม ท่านได้ตรวจร่างกายของผู้ต้องหาว่ามีสภาพวิกฤตอย่างไร คำว่า “วิกฤต” ในทางการแพทย์หมายถึง กำลังจะเสียชีวิต รู้ได้อย่างไรว่าผู้ต้องหากำลังจะเสียชีวิต ควรพูดในนามความเห็นส่วนตัวไม่ควรพูดหรือแถลงข่าวต่อสาธารณชนในนามสำนักงานอัยการสูงสุดโดยอาศัยตำแหน่งตามอำนาจหน้าที่กฎหมายเพราะอัยการเป็นทนายของแผ่นดิน การพูดเช่นนี้สร้างความเสื่อมเสียให้กับองค์กรเป็นอย่างยิ่ง ท่านเป็นอัยการชั้นผู้ใหญ่ไม่ควรกระทำเช่นนี้เป็นการผิดประมวลจริยธรรมข้าราชการฝ่ายอัยการและบุคลากรของสำนักงานอัยการสูงสุด และแบบแผนธรรมเนียมการปฏิบัติของอัยการที่ผ่านมาหรือไม่ เพราะสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ใช่อัยการของตระกูลใดตระกูลหนึ่ง หน้าที่ของท่านคือ อัยการของแผ่นดิน
ดังนั้น ขอให้สำนักงานอัยการสูงสุดดำเนินการดังนี้
๑. แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายปรีชา สุดสงวน อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญา มีการกระทำที่ผิดกฎหมายระเบียบและประมวลจริยธรรม หรือไม่ โดยเร็วที่สุด
๒. ตามที่มีการแต่งตั้งนายปรีชา สุดสงวน ดูแลคดีนี้ของ นช.ทักษิณ ชินวัตร เมื่ออัยการผู้ดูแลคดีได้แสดงออกเช่นนี้จึงสมควรอย่างยิ่งให้พ้นจากหน้าที่ดูแลคดีนี้และแต่งตั้งอัยการที่มีความเป็นกลางเป็นที่ประจักษ์และเชื่อถือได้มาดูแลคดีต่อไป…” นายวัชระกล่าว