วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ณ ห้องแถลงข่าวกระทรวง อว.ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า ถ.พระรามที่ 6 : สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโรงงานไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0 ระหว่าง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมี ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 สวทช. และผู้บริหารทั้งสองหน่วยงานร่วมแถลงข่าว
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า (สวทช.) เป็นขุมพลังหลักของประเทศในการวิจัยพัฒนาและใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) ของภาครัฐ เอกชน และชุมชน เพื่อพัฒนาและสร้างความเข้มแข็งของระบบนิเวศวิจัยและนวัตกรรม ให้ตอบโจทย์สำคัญของประเทศ โดยในส่วนของภาคอุตสาหกรรม (สวทช.) ต้องทำงานร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งถือว่าเป็นพันธมิตรที่สำคัญยิ่ง ที่จะร่วมกันสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมไทยให้เกิดการประยุกต์ใช้ (วทน.) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ลดการใช้ทรัพยากร อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้สูงขึ้น ร่วมกันขับเคลื่อนและผลักดันงานต่างๆ ให้เกิดการถ่ายทอดและขยายผลงานวิจัยที่สร้างผลกระทบกับคนในวงกว้างระดับล้านคน
“ในปีที่ผ่านมา (สวทช.) มีความมุ่งมั่นตอบโจทย์การสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ ตามนโยบายที่ นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้มอบไว้คือ “เอกชนนำ รัฐสนับสนุน” จึงได้จัดตั้ง NSTDA Core Business – Industry 4.0 ขึ้นเพื่อเป็นแพลตฟอร์มให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้ามาใช้บริการด้านต่างๆ ยกระดับสถานประกอบการสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยในปี 2566 มีการประเมิน Thailand i4.0 Index แล้วกว่า 200 โรงงาน ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ภาคอุตสาหกรรม 140 โรงงาน และฝึกอบรมบุคคลากร 600 คน และในปีนี้ได้มีการพัฒนารูปแบบการประเมินแบบออนไลน์และทำได้ด้วยตนเอง (Online Self-Assessment) ซึ่งจะทำให้โรงงานอุตสาหกรรมเข้าถึงได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และสามารถรู้ผลได้ทันทีเพื่อนำไปปรับปรุงยกระดับสถานประกอบการ อีกทั้งเชื่อมกลไกสนับสนุน และสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุน เพื่อให้เกิดการลงมือปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม”
ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า (กรอ.) รับมอบนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งยกระดับภาคอุตสาหกรรมคู่ชุมชน ภายใต้แนวคิดอุตสาหกรรมดีอยู่คู่ชุมชนอย่างยั่งยืน มุ่งเน้น 4 มิติ ได้แก่ ความสำเร็จทางธุรกิจ ความอยู่ดีกับสังคมโดยรวม ความลงตัวกับกติกาสากล และการกระจายรายได้สู่ชุมชน โดยได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเข้าสู่อุตสาหกรรมสีเขียว Green Industry (GI) ซึ่งแบ่งเป็น 5 ระดับ เพื่อส่งเสริมให้โรงงานอุตสาหกรรมดำเนินการเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนที่ตอบโจทย์ประเทศไทยและประชาคมโลก
นอกจากนี้ (กรอ.) ยังสนับสนุนให้มีการนำกากของเสียอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ ผ่านการวิจัยและพัฒนาสู่การเพิ่มมูลค่ากากของเสียอุตสาหกรรมเพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือเป็นวัตถุดิบในอีกอุตสาหกรรม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการสิ้นสุดของการเป็นของเสีย (End of Waste) รวมถึงการพัฒนามาตรฐานสำหรับวัตถุดิบทุติยภูมิเพื่อให้เกิดการเลือกใช้วัสดุทดแทน (Circular Supplies) เพื่อรักษาต้นทุนของธรรมชาติ เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากร และลดการเกิดของเสียที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ ในมิติของความสำเร็จทางธุรกิจ กรอ. ผลักดันให้โรงงานอุตสาหกรรมมีการปรับธุรกิจให้เหมาะสมกับโลกอนาคต โดยมีการยกระดับภาคอุตสาหกรรมสู่เทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ ให้สามารถแข่งขันด้านประสิทธิภาพและต้นทุน รวมถึงการใช้นวัตกรรมแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานและค่าแรงที่สูงขึ้น ซึ่งในส่วนนี้ทาง (กรอ.) มองว่า Thailand i4.0 Index สามารถเข้ามาตอบโจทย์ได้ ซึ่งปี 2567 นี้ กรอ.จะสนับสนุนให้โรงงานในกำกับเข้ามาใช้ Thailand i4.0 Checkup ซึ่งเป็นแบบประเมินออนไลน์ด้วยตนเอง เพื่อทำให้ผู้ประกอบการทราบระดับอุตสาหกรรมของตนและสามารถรับคำแนะนำเบื้องต้นเพื่อพัฒนาโรงงานของตนให้ไปสู่ระดับอุตสาหกรรมที่สูงขึ้น โดยในปีนี้ตั้งเป้าการประเมินอุตสาหกรรม 4.0 ไว้ไม่น้อยกว่า 500 โรงงาน เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองหน่วยงาน และสามารถใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และนำไปถ่ายทอดให้กับผู้ประกอบการ ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆระหว่างกัน เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ อีกทั้ง ความร่วมมือนี้ยังนำไปสู่การพัฒนาแพลตฟอร์มที่เก็บรวมรวมข้อมูลเครื่องจักรอุตสาหกรรมที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
ดร.รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการแพลตฟอร์มสนับสนุนอุตสาหกรรม 4.0 (สวทช.) กล่าวเสริมว่า การประเมินระดับความพร้อมด้วย Thailand i4.0 Checkup ถือเป็นบันไดขั้นแรกในการก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 หลังจากประเมินแล้ว ยังสามารถเข้าใช้บริการด้านอื่นๆ จาก (สวทช.) ได้ เช่น การให้คำปรึกษา การฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนา ที่จะสนับสนุนโรงงานอุตสาหกรรมในการปรับตัวสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบันระบบ “Thailand i4.0 Checkup” ได้เปิดให้ใช้บริการอย่างเป็นทางการแล้ว สามารถเข้าถึงได้ง่ายบนเว็บไซต์ www.nstda.or.th/i4platform ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถประเมินสายการผลิตได้ด้วยตนเอง โดยระบบดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับผลการประเมินเบื้องต้น พร้อมทั้งมีการเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม เพื่อวางแผนการขอรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่พร้อมสนับสนุนการยกระดับองค์กรไปสู่อุตสาหกรรม 4.0