รัฐบาลบิ๊กตู่-กองทัพ เดินหน้าจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน พร้อมสร้างอู่จอดเรือและศูนย์ซ่อม ขณะที่คนในกองทัพ ระบุ ไม่กล้าปล่อยข้อมูลความไม่เหมาะสม ไม่โปร่งใสออกสู่สังคม เหตุแรงต้านกลุ่มอำนาจยังไม่แข็งแรงพอที่จะทำให้โครงการนี้ล้มได้ ด้าน “วัชระ เพชรทอง” ยื่นหนังสือคัดค้านจัดซื้อเรือดำน้ำถึงบิ๊กตู่-สนช.-สตง-ป.ป.ช.ระบุชัดขัดต่อพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 และขัดต่อคำนิยม 12 ประการที่ คสช.และรัฐบาลได้ประกาศไว้ อีกทั้งจะต้องรีดภาษีประชาชนเพื่อนำมาใช้ซื้อเรือดำน้ำ ยันหากบิ๊กตู่ดึงดันจะซื้อต้องรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้น
การตัดสินใจจัดซื้อเรือดำน้ำ Yuan Class S26T จากสาธารณรัฐประชาชนจีน ที่เสนอโปรโมชันซื้อ 2 แถม 1 ในราคารวม 36,000 ล้านบาทของกองทัพเรือไทย ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือว่าประสบความสำเร็จหลังจากที่รัฐบาลและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้อนุมัติงบประมาณให้มีการจัดซื้อเรียบร้อยแล้ว ขณะเดียวกัน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ยังได้นำผู้บัญชาการเหล่าทัพ ไปตรวจดูพื้นที่บริเวณอู่ราชนาวีมหิดลอดุลยเดช อำเภอสัตหีบ ที่เตรียมไว้กว่า 40.78 ไร่ ซึ่งจะใช้ในการสร้างท่าจอดเรือและศูนย์ซ่อมบำรุงเพื่อรองรับเรือดำน้ำจากประเทศจีน ที่กองทัพอยู่ระหว่างดำเนินการจัดซื้อ
อย่างไรก็ดี แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะอธิบายให้เห็นถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีน และพร้อมที่จะให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อในครั้งนี้ก็ตาม แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียงคัดค้าน โดยเฉพาะการออกมาเปิดเผยของอดีตนายทหารเรือที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญด้านการส่งกำลังบำรุงอย่าง พลเรือเอกบรรณวิทย์ เก่งเรียน อดีตรองปลัดกระทรวงกลาโหม และอดีตประธานคณะที่ปรึกษาพิเศษกองทัพเรือ กลับเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง โดยชี้ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดที่กองทัพใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์คือเรื่อง “ภัยคุกคาม” และความคุ้มค่าในการใช้งาน ไม่ใช่พิจารณาจากอาวุธที่เพื่อนบ้านมีเท่านั้น
ที่สำคัญสุดควรคำนึงถึงประสิทธิภาพและปัญหาในการประเมินราคาเรือดำน้ำที่ผลิตจากประเทศจีน เนื่องจากไม่มีประสบการณ์ในการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ต่อต้านทางทะเล ต่างจากเรือดำน้ำที่ผลิตจากเยอรมันซึ่งมีชื่อเสียงในด้านนี้ หรือญี่ปุ่นซึ่งเคยขายเรือดำน้ำให้ไทยมาแล้ว อีกทั้งบริเวณอ่าวไทยมีปัญหาในเรื่องความตื้นของทะเลจึงจำเป็นต้องเลือกเรือดำน้ำที่มีขนาดเล็กเพื่อให้สามารถปฏิบัติการในอ่าวไทยได้ ไม่ใช่เรือดำน้ำที่ใช้กับน้ำลึกซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาตามมาได้
“ถึงรัฐบาลจะอนุมัติให้มีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน แต่หากเห็นว่าไม่เหมาะสมก็สามารถยกเลิกโครงการได้ตลอดเวลาตราบใดที่ยังไม่มีการเซ็นสัญญาซื้อระหว่างรัฐบาลไทยกับจีน” พลเรือเอกบรรณวิทย์ระบุ แต่ดูเหมือนว่า สิ่งที่ พลเรือเอกบรรณวิทย์ ท้วงติงนั้น จะไม่มีทางเป็นจริงได้ เพราะรัฐบาลและกองทัพต่างเดินหน้าท่ามกลางเสียงคัดค้านที่เกิดขึ้นตามมาอีกเช่นกัน
ทั้งนี้ หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนโดยซื้อ 2 ลำแถม 1 ลำ พร้อมขอความเห็นใจจากประชาชนให้เข้าใจถึงความจำเป็นในการจัดซื้อเรือดำน้ำนั้น ก็ได้มีข่าวลือจากคนในกองทัพว่า จะมีนายทหารจากกองทัพที่ไม่เห็นด้วยในการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีนจะค่อย ๆ ปล่อยข้อมูลออกสู่สังคมเพื่อให้เห็นว่าการจัดซื้อครั้งนี้ไม่เหมาะสมและไม่โปร่งใสอย่างไร เพื่อทำให้โครงการนี้ต้องยุติลงไปก่อน โดยอาศัยจังหวะที่มีปัญหาเรื่องเศรษฐกิจประเทศ และงบประมาณหรือเงินคงคลังยังมีไม่มากพอที่จะนำเงินไปซื้อเรือดำน้ำเป็นสำคัญ
“ล่าสุดมีการคุย ๆ กัน ว่าการปล่อยข้อมูลออกมาดูจะยากมาก เพราะแรงต้านยังไม่แข็งแรงพอที่จะต่อสู้กับกลุ่มที่มีอำนาจในเวลานี้ และพวกนี้ก็ไม่ยอมถอยแน่นอน ต้องทำทุกอย่างให้จัดซื้อได้สำเร็จ นายทหารบางคนที่คิดจะส่งข้อมูลก็ต้องหยุดกันหมด” แหล่งข่าวจากกองทัพบอก
ขณะที่ นายวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งติดตามเรื่องเรือดำน้ำมาเป็นเวลานาน หาได้หวั่นเกรงต่ออำนาจคนมีสีโดยได้ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อขอให้ทบทวนเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยระบุว่า เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาลที่จะจัดซื้อเรือดำน้ำจากประเทศจีนในโปรโมชัน ซื้อ 2 ลำ แถม 1 ลำ ตลอดจนการอนุมัติงบประมาณประจำปี 2560 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในวงเงิน 13,500 ล้านบาท ให้กองทัพเรือจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน จำนวน 1 ลำ
อีกทั้งนโยบายดังกล่าวยังอาจจะขัดต่อพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. 2550 และขัดต่อคำนิยม 12 ประการที่ คสช.และรัฐบาลได้ประกาศไว้
“ต้องยอมรับตอนนี้เศรษฐกิจไทยกำลังย่ำแย่ ซึ่งอาจต้องรีดภาษีประชาชนเพิ่ม การจัดซื้อเรือดำน้ำในวงเงินหลายหมื่นล้านนั้นรัฐบาลจะมีภาระผูกพันหลายปี ซึ่งแน่นอนว่างบประมาณเหล่านี้มาจากเงินภาษีของประชาชน รัฐบาลจึงจำเป็นต้องพิจารณาให้ถ้วนถี่” นายวัชระ ระบุ และย้ำว่า ตามขั้นตอนในการตรวจสอบนั้น หลังจากที่ยื่นหนังสือไปเมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลและ สนช.น่าจะมีหนังสือตอบกลับมาภายใน 1 เดือน จากนี้ไปจึงต้องรอดูว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะตอบกลับมาว่าอย่างไร ปัจจุบันก็กำลังเตรียมเข้ายื่นหนังสือถึงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อให้ตรวจสอบโครงการดังกล่าวด้วย
“ถ้ารัฐบาลยังคงดึงดันที่จะซื้อให้ได้ และในอนาคตเรือดำน้ำที่ซื้อมามีปัญหา ด้อยประสิทธิภาพเหมือนกับกรณีซีทีเอ็กซ์ ท่านพลเอกประยุทธ์ก็ต้องรับผิดชอบ” นายวัชระย้ำ
เช่นเดียวกับ นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ซึ่งเดินหน้าตรวจสอบการจัดซื้อเรือดำน้ำของกองทัพเรือเช่นกัน เนื่องจากเป็นโครงการที่สังคมจับตา โดยทาง สตง.ได้ขอเอกสารและรายละเอียดในการจัดซื้อ ทั้งในเรื่องของวัตถุประสงค์ สเปกหรือคุณสมบัติของเรือดำน้ำที่กองทัพเรือกำหนด ขั้นตอนและกระบวนการจัดซื้อ ตลอดจนความเหมาะสมและความคุ้มค่าของโครงการดังกล่าว