เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่กฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 ลงนามโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีรายละเอียด ดังนี้
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 24 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ. ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และมาตรา 107 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้
- ในกฎกระทรวงนี้ “หน่วยการใช้” หมายความว่า เม็ด ซอง ขวด หรือหน่วยอย่างอื่นที่ทำขึ้นซึ่งโดยปกติสำหรับการใช้เสพหนึ่งครั้ง
- การมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประเภท 2 หรือประเภท 5 หรือวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 หรือประเภท 2 ในปริมาณเล็กน้อยตามที่กำหนดดังต่อไปนี้ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ประกอบด้วย
- แอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
- เอ็น – เอทิล เอ็มดีเอ หรือเอ็มดีอี ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,255 มิลลิกรัม
- เฮโรอีน น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 300 มิลลิกรัม
- เดกซ์โทรไลเซอร์ไจด์ หรือแอลเอสดี (LSD) หรือแอลเอสดี – 25 (LSD 25) ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
- เมทแอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม กรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 100 มิลลิกรัม
- เมทิลีนไดออกซีแอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
- 3,4 – เมทิลีนไดออกซีเมทแอมเฟตามีน ไม่เกิน 5 หน่วยการใช้หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,250 มิลลิกรัม
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 ประกอบด้วย
- โคคาอีน มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 200 มิลลิกรัม
- ฝิ่น มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,000 มิลลิกรัม
ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ประกอบด้วย - พืชฝิ่นหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 15,000 มิลลิกรัม
- เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควายหรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 135,000 มิลลิกรัม
- สารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล ที่เป็นสารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชงที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 น้ำหนักสุทธิไม่เกิน 30,000 มิลลิกรัม กรณีเป็นของเหลวปริมาตรสุทธิไม่เกิน
30 มิลลิลิตร
วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 1 ประกอบด้วย - ฟลูอัลพราโซแลม ปริมาณไม่เกิน 5 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 650 มิลลิกรัม
- ฟีนาซีแพม ปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,640 มิลลิกรัม
วัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 ประกอบด้วย - อัลพราโซแลม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,300 มิลลิกรัม
- คีตามีน กรณีเป็นของเหลวปริมาตรสุทธิไม่เกิน 10 มิลลิลิตรหรือน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 10,000 มิลลิกรัม กรณีที่เป็นเกล็ด ผง ผลึก มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม
- มิดาโซแลม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 2,080 มิลลิกรัม
- ไนเมตาซีแพม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 1,890 มิลลิกรัม
- ไนทราซีแพม มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 5,560 มิลลิกรัม
- เฟนเทอร์มีน มีปริมาณไม่เกิน 10 หน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 3,200 มิลลิกรัม
ปราบผู้ค้า รักษาผู้เสพ ครอบครองเม็ดเดียวถ้าส่อแวว “ค้า” คือ “ติดคุก”
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกระแสความเข้าใจผิดที่ปรากฏทางสื่อโซเชียลมีเดีย เกี่ยวกับกฎกระทรวงกำหนดปริมาณยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ ที่ให้สันนิษฐานว่ามีไว้ครอบครองเพื่อเสพ พ.ศ. 2567 โดยระบุว่าการเสพยาเสพติดต่อไปนี้ไม่ถือเป็นความผิดทางกฎหมาย ว่า การออกกฎกระทรวงครั้งนี้ เป็นมติเอกฉันท์ร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดประเภทยาบ้า โดยผู้ที่มียาบ้าในครอบครองไม่เกิน 5 เม็ดให้สันนิษฐานว่ามีไว้ในครอบครองเพื่อเสพ และถือเป็นผู้ป่วยที่ต้องนำไปบำบัดรักษาให้หาย ทั้งนี้ขึ้นกับความสมัครใจของผู้นั้น ถ้าไม่สมัครใจรับการบำบัดจะถูกดำเนินคดีข้อหา “ครอบครองเพื่อเสพ” ตามมาตรา 164 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากพิสูจน์ได้ว่ามีพฤติการณ์ที่เป็นการครอบครองเพื่อขาย ไม่ว่าจะกี่เม็ด ต้องถูกดำเนินคดีและลงโทษตามกฎหมายฐานเป็นผู้ค้า
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เผยกฎหมายใหม่ ‘ยาบ้า 5 เม็ด’ ยังมีความผิดฐานครอบครองเพื่อเสพ โทษทั้งจำทั้งปรับ
พ.ต.อ.อุเทน นุ้ยพิน รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชี้แจงว่า การเสพยาเสพติดยังคงมีโทษอยู่ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 104 , 162 คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้เสพสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนด และดำเนินการเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วน ก็จะไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 113 ทั้งนี้ บทลงโทษทางกฎหมายยังคงมีอยู่
ซึ่งกฎหมายนี้มีเจตนารมย์ที่จะช่วยเหลือให้ผู้เสพเข้ารับการบำบัดโดยไม่เอาผิดทางอาญา หรือลดการเป็นอาชญากรรมของผู้เสพ (decriminalization) “มองผู้เสพ เป็นผู้ป่วย” โดยใช้กระบวนการทางสาธารณสุขและสุขภาพในการแก้ไขปัญหาผู้เสพผู้ติด
ส่วนการครอบครองยาเสพติดในปริมาณเล็กน้อยไว้เพื่อเสพ เช่น ยาบ้า ไม่เกิน 5 เม็ด หรือยาไอซ์ ไม่เกิน 100 มิลลิกรัม หรือยาเค มีน้ำหนักสุทธิไม่เกิน 500 มิลลิกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2567 ยังคงเป็นความผิดฐาน “ครอบครองเพื่อเสพ” ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 107 , 164 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ แต่หากผู้ครอบครองยาเสพติดไว้เพื่อเสพ สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษา และดำเนินการเข้ารับการบำบัดจนครบถ้วนก็จะไม่มีความผิด ตาม ม.113 เช่นกัน
ทั้งนี้ รองโฆษก ตร. ขอเรียนประชาสัมพันธ์ให้พี่น้องประชนได้รับทราบว่า การเสพยาเสพติดทุกชนิดประเภท การครอบครองยาเสพติดทุกชนิดประเภท ไม่ว่าจำนวนเท่าใดยังคงเป็นความผิดตามกฎหมาย ถูกจับกุม ดำเนินคดีได้
อ่านกฎกระทรวงฉบับเต็มได้ที่ลิงก์ด้านล่าง : https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/20444.pdf
นายกฯ ยืนยัน รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหายาเสพติด
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง เรื่องยาเสพติด หลังมีประเด็นเรื่องการประกาศให้ผู้มียาเสพติด 5 เม็ด เป็นผู้ป่วยซึ่งก่อนหน้านี้มีการเสนอแค่เม็ดเดียว ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้และเป็นวาระแห่งชาติ ไม่ได้ทำแค่เรื่องประกาศ 5 เม็ด คือ ผู้ป่วยเท่านั้น แต่หากดูแล้วไม่เหมาะสมจะมีการแก้ไข ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลง รวมถึงการตัดวงจรการค้าข้ามชายแดน การบำบัดผู้เสพเป็นผู้ป่วยไม่ใช่ผู้มีความผิด หากเสพแล้วออกมาจะมีการจัดหาอาชีพคืนสู่สังคมที่เหมาะสม ส่วนของกลางยาเสพติดที่จับกุมหลายสิบล้านเม็ดถึงร้อยล้านเม็ด จะพยายามทำให้เวลาในการทำลายยาเสพติดให้สั้นลง ที่มา:ประชาสัมพันธ์ จังหวัดอุตรดิตถ์
รายงาน:นายภากร แหลมหลัก ผู้สื่อข่าว นสพ.5เหล่าทัพ