1 เมษายน พ.ศ.2448 หรือวันนี้เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว รัชกาลที่ 5 โปรดให้ออก “พระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ. 124” ให้ลูกทาสทุกคนเป็นไท ส่วนทาสสยามประเภทอื่นที่มิใช่ทาสในเรือนเบี้ย ทรงให้ลดค่าตัวเดือนละ 4 บาท นอกจากนี้ยังมีบทบัญญัติป้องกันไม่ให้คนที่เป็นไทแล้วกลับมาเป็นทาสอีก และเมื่อทาสจะเปลี่ยนเจ้าเงินใหม่ ก็ห้ามมิให้ขึ้นค่าตัว
จึงมักเรียกวันนี้เป็น “วันเลิกทาส”
อย่างไรก็ตาม กระบวนดังกล่าวเกิดขึ้นมาตั้งแต่ก่อนหน้านั้น คือ เมื่อ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2417 ทรงออก “พระราชบัญญัติพิกัดเกษียณลูกทาสลูกไทย” โดยมีการแก้พิกัดค่าตัวทาสใหม่ โดยให้ลดค่าตัวทาสลงตั้งแต่อายุ 8 ขวบ จนกระทั่งหมดค่าตัวเมื่ออายุได้ 20 ปี เมื่ออายุได้ 21 ปี ผู้นั้นก็จะเป็นอิสระ มีผลกับทาสที่เกิดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2411 และห้ามมิให้มีการซื้อขายบุคคลที่มีอายุมากกว่า 20 ปีเป็นทาสอีก
และหากย้อนกลับไปรัชสมัยก่อนหน้า คือรัชกาลที่ 4 ก็มีหลักฐานว่า ทรงวิพากษ์วิจารณ์การมีทาสของประเทศที่เจริญแล้วในยุโรป เช่น อังกฤษ อย่างไม่ไว้หน้า
พระองค์ยังกล่าวว่า ทรงจำได้ว่า นางแอนนา เลียวโนเวนส์หรือ “แหม่มแอนนา” เคยพูดว่า “ทาสจะเป็นมลทินที่ยิ่งใหญ่ของชาติสยาม” (“that slavery shall be a great blot on the Siamese nation”) ซึ่งรัชกาลที่ 4 ทรงปฏิเสธไปในตอนแรก
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยกล่าวถึงประเด็นการเลิกทาสว่า การดำเนินการดังกล่าว มีจุดประสงค์เพื่อให้สยามทันสมัยตามแบบฝรั่งตะวันตก อย่างช้าๆ จากต้นถึงปลายรัชกาล โดยไม่ได้เกิดความขัดแย้งรุนแรงแนว ‘สงครามกลางเมือง’ เหมือนบางประเทศในโลก เนื่องจากทาส ไม่ได้เป็นคนจำนวนมากของประเทศ จึงไม่ได้มีผลกระทบต่อ “นายทาส” มากนัก และที่สำคัญ คือ ทาสไม่ได้เป็นแรงงานสำคัญในการผลิต ข้าว ยางพารา หรือ ไม้สัก
ปัจจุบัน หลงเหลือหลักฐานด้านเอกสาร เกี่ยวกับการซื้อขายทาสในยุคนั้น อาทิ หนังสือสารกรมธรรม์ ขุนนางผู้ใหญ่ นาม “หลวงภักดีสงคราม” และภรรยา “อำแดงคล้าย” ขายตัวเองเป็นทาสแก่ชาวจีนชื่อ “ทองจีน” และภรรยาชื่อ “นางนกแก้ว” คาดเป็น “ขุนนางตกยาก” เมืองนครราชสีมา ข้อความส่วนหนึ่งว่า “ตูข้าอ้ายหลวงภักดีสงคราม อีคล้ายผู้เมีย ทุกข์ยาก พร้อมใจกันทำหนังสือสารกรมธรรม์ขายตัวเองอยู่กับท่านจีนทองจีนผัว นางนกแก้วเมีย (แต่ต้น) เป็นเงินตราสองชั่งสิบสี่ตำลึง ตูข้าเข้าอยู่รับใช้สอยการงานต่างกิริยาดอกเบี้ยของท่าน ….”
จากวันนั้น ถึงวันนี้ แม้จะผ่านไปนานกว่า 100 ปี แต่เรื่องราวของทาส ยังถูกถ่ายทอดผ่านงานวรรณกรรมจำพวกนิยาย ซึ่งถูกนำไปผลิตซ้ำในรูปแบบละครโทรทัศน์มากมายหลายเรื่อง ที่ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนกลายเป็นภาพยนตร์ และละครย้อนยุคที่ถูกสร้างใหม่ ‘นับไม่ถ้วนเวอร์ชั่น’ คือ นางทาส
และต่อไปนี้คือ ภาพชุดทาสสยาม รวมถึงไพร่ อันเป็นแรงงานสำคัญในระบบเศรษฐกิจในอดีต. น่าชมเนื่องในวันสำคัญแห่งความเป็นไท 1 เมษายนนี้