สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ ร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จัดฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ “ประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์กับการศึกษา” (AI in education context) ในงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจําปี 2567
เมื่อวันที่ 5 ก.พ.2567 วันที่สี่ของการจัดงาน สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจําปี 2567 (Thailand Inventors’ Day 2024) ภายใต้แนวคิด “สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนำประเทศ” ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 25 ระหว่างวันที่ 2-6 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.00-17.00 น. ณ อีเวนท์ ฮอลล์ 100-102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา
สำหรับหนึ่งในกิจกรรมที่มีผู้เข้าร่วมงาน “วันนักประดิษฐ์” ประจําปี 2567 ให้ความสนใจคือ “การประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์กับการศึกษา” โดย อ.ดร.พฤทธิ์ พุฒจร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยีก่อกำเนิด สำนักวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง วัตถุประสงค์เพื่อเท่าทัน AI ที่มีแนวโน้มที่จะมีบทบาทสำคัญในการศึกษามากขึ้นในอนาคต AI มีศักยภาพที่จะปฏิวัติการศึกษาในหลายๆ ด้าน โดยช่วยให้นักเรียนเรียนรู้ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นบรรลุศักยภาพสูงสุดของตนและช่วยให้ครูปรับปรุงการสอนของตนได้
อ.ดร.พฤทธิ์ พุฒจร กล่าวว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เป็นเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็วและมีศักยภาพที่จะปฏิวัติหลายๆ ด้านของชีวิตของเรา รวมถึงการศึกษา AI มีความสามารถในการเรียนรู้และปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้สามารถปรับให้เข้ากับความต้องการของนักเรียนแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น AI สามารถให้คำแนะนำแบบปรับแต่งแก่นักเรียน ตรวจจับปัญหาการเรียนรู้ และสร้างแบบจำลองเชิงโต้ตอบที่ช่วยให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาที่ซับซ้อนได้ง่ายขึ้น AI ยังสามารถใช้เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของครูได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น AI สามารถช่วยครูในการวัดผลการเรียนรู้ของนักเรียน จัดทำรายงานและแผนการเรียนรู้ และสร้างเนื้อหาการสอนที่ปรับให้เหมาะกับนักเรียนแต่ละคน นอกจากนี้ AI ยังสามารถใช้เพื่อพัฒนาวิธีการสอนใหม่ๆ ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยรวมแล้ว AI มีศักยภาพที่จะปฏิวัติการศึกษาในหลายๆ ด้าน การใช้เอไอทำให้นักเรียนได้ลงมือ ‘สืบสวนสอบสวน’ ข้อมูลด้วยตัวเอง นักเรียนได้ค้นหาข้อมูลในมุมมองต่างๆ เกิดการตั้งคำถามปลายเปิด พร้อมทั้งไตร่ตรองว่าข้อมูลเหล่านั้นน่าเชื่อถือหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาการคิดเชิงวิพากษ์ ในโลกยุคปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เกิดการสร้างและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารออกมาเป็นจำนวนมาก ข้อมูลเหล่านี้มีทั้งข้อมูลที่เป็นจริงบ้าง ไม่เป็นจริงบ้าง ทักษะการคิดเชิงวิพากษ์จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการวิเคราะห์ว่าข้อมูลไหนน่าเชื่อหรือไม่น่าเชื่อถือ เพราะการรับรู้ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริงอาจส่งผลเสียต่อตัวเราและคนอื่นได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องพัฒนา AI อย่างมีความรับผิดชอบและตรวจสอบให้แน่ใจว่า AI ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของนักเรียนและครู
ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2567 ผู้ร่วมงานจะได้พบนิทรรศการผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมมากกว่า 1,000 ผลงาน นิทรรศการ “พระบิดาแห่งการประดิษฐ์ไทย” และนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ, นิทรรศการ รางวัลการวิจัยแห่งชาติ, นิทรรศการสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมจากหน่วยงานเครือข่ายในประเทศและต่างประเทศ, มหกรรมประกวดสิ่งประดิษฐ์นานาชาติ IPITEx 2024, นิทรรศการประกวดสิ่งประดิษฐ์ระดับเยาวชน Thailand New Gen Inventors Award 2024 : I-New Gen Award 2024, กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนานักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ โซนตลาดสินค้าและนวัตกรรมจำหน่ายในราคาพิเศษ นิทรรศการ Highlight Zone เช่น นิทรรศการ The Survival game ตะลุยแดนภัยพิบัติ ที่นำเสนอเกมส์หนีภัยสึนามิในโลกเสมือนจริง นิทรรศการ Fruit Fun Fair ผลไม้หรรษา ที่นำเสนอผลิตภัณฑ์ผลงานวิจัยมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ส้มโอฉายรังสี ทุเรียน Fresh cut ฯลฯ และ การเสวนาและฝึกอบรม มากกว่า 100 หัวข้อ เช่น การเสวนาในหัวข้อการส่งเสริมการพัฒนาสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการประดิษฐ์คิดค้น การฝึกอบรมอาชีพ ลงทะเบียนและดูรายละเอียดเพิ่มเติม https://inventorsday.nrct.go.th
ผู้สนใจสามารถแวะชมงานได้ตั้งแต่บัดนี้ – 6 กุมภาพันธ์ 2567 ณ Event Hall 100 – 102 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา