วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ที่วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) ต.บางหญ้าแพรก อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน “เปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำธรรมชาติ” มอบธงสัญลักษณ์พร้อมปล่อยขบวนเรือชาวประมงออกปฏิบัติการ 23 ลำในแม่น้ำท่าจีน และปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาว 60,000 ตัวพร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี และกรุงเทพมหานคร เพื่อควบคุมและกำจัดประชากรปลาหมอสีคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ โดยมี ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล นายวรณัฎฐ์ หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับและร่วมกิจกรรม
ที่ผ่านมาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ สร้างความเสียหายต่อผลผลิตในบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของเกษตรกรและส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบนิเวศ เนื่องจากเป็นปลาที่มีการปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและทนต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มของน้ำได้ดี พบการแพร่ขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วในแหล่งน้ำกว่า 13 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรปราการ เพชรบุรี กรุงเทพมหานคร จันทบุรีระยอง ราชบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และสมุทรสาครที่มีการระบาดอย่างมาก
ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เล็งเห็น ถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกรและชาวประมง เมื่อครั้งได้ลงพื้นที่เพื่อรับฟังปัญหาจากกลุ่มเกษตรกรในจังหวัดสมุทรสาคร จึงกำหนดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องมีมาตรการจัดการ ขั้นเด็ดขาดเพื่อปกป้องผลผลิตสัตว์น้ำของเกษตรกรและทรัพยากรประมงของประเทศ โดยที่ผ่านมาได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำขึ้น เพื่อวางแผนและกำหนดมาตรการในการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหา รวมถึงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วน ให้การขับเคลื่อนนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
ภายในงานมีการมอบธงสัญลักษณ์ให้แก่ชาวประมงเรืออวนรุนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานประมงจังหวัด ทั้งหมด 23 ราย และปล่อยขบวนเรืออวนรุนที่เข้าร่วมโครงการฯ เพื่อปฏิบัติการในแม่น้ำท่าจีน พร้อมสาธิตวิธีการใช้อวนรุนในการกำจัดปลาหมอสีคางดำ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่อนผันให้ใช้อวนรุนขนาดคันรุนยาวไม่เกิน 16 เมตร ห้ามติดโช่แต่ให้มีการถ่วงน้ำหนักได้ด้วยการติดตัวถ่วงน้ำหนักที่แนบกับเชือกคร่าวล่าง ขนาดตาอวนตลอดผืน ต้องไม่น้อยกว่า 3 เซนติเมตร ในการกำจัดปลาหมอสีคางดำเฉพาะในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ พื้นที่บริเวณริมทะเลชายฝั่งจังหวัดสมุทรสาคร พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำท่าจีน คลองสุนัขหอน และคลองพิทยาลงกรณ์เท่านั้นโดยจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม และ สิ้นสุดในวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ตามประกาศกรมประมงเรื่อง กำหนดชนิดเครื่องมือ รูปแบบของเครื่องมือ ขนาดเรือ วิธีการทำการประมง พื้นที่ทำการประมง และเงื่อนไข ที่อนุญาต ผ่อนผันให้ใช้ทำการประมง พ.ศ. 2567
นอกจากนี้ภายในงาน ยังมีการปล่อยพันธุ์ปลากะพงขาวผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 40,000 ตัว พร้อมกันในพื้นที่นำร่อง 4 จังหวัดผ่านระบบออนไลน์ ได้แก่ 1. วัดลาดเป้ง อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม 2. ประตูน้ำบ้านคลองสวน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ 3. ท่าเทียบเรือประมงคลองอีแอด อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี และ 4. วัดประชาบำรุง บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร คู่ขนานไปกับการปล่อย พันธุ์ปลากะพงขาวอีก 20,000 ตัว ในงาน Kick off ที่จัดขึ้น ณ วัดศรีสุทธาราม (วัดกำพร้า) จ.สมุทรสาคร
ร่วมด้วยกิจกรรมการมอบหนังสือรับรองเพื่อประกอบการยื่นขอจดทะเบียนเรือไทยสำหรับเรือประมงพื้นบ้าน จำนวน 5 ราย ตลอดจนการจัดนิทรรศการให้ความรู้ด้านชีววิทยาปลาหมอสีคางดำ การสาธิตการใช้ประโยชน์จากปลาหมอสีคางดำในรูปแบบผลิตภัณฑ์แปรรูปเมนูไส้อั่วปลาหมอสีคางดำ และเครื่องมือประมงเพื่อกำจัดปลาหมอสีคางดำ อีกด้วย
หนังสือพิมพ์ ๕ เหล่าทัพ
น.ส.ประทินทิพย์ อภิโชติทานสิริ สมุทรสาคร