วันที่ 29 มกราคม 2567 ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) เปิดเผยว่า ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่กำลังกระทบทุกคน ทุกประเทศ เพราะถูกใช้ในแทบทุกอุตสาหกรรมและ
กลุ่มอาชีพ ตลอดจนในชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่รอบรู้ เช่น ChatGPT หรือโปรแกรมสร้างรูปเหมือนจริงที่กำลังนิยมใช้กันเท่านั้น แต่ถูกใช้ในการตลาด โรงงานอุตสาหกรรม ไปจนถึงการแพทย์มาสักระยะหนึ่งแล้ว และกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว จึงกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเทคโนโลยี AI นี้ เช่นเดียวกับการที่เทคโนโลยีใหม่เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการที่เทคโนโลยีเครื่องจักรกลก่อให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงปี พ.ศ.2303 หรือเทคโนโลยีสารกึ่งตัวนำก่อให้เกิดการปฏิวัติอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงปี พ.ศ.2490 ที่แตกต่างคือ เทคโนโลยี AI นี้จะสร้างผลกระทบรุนแรงและรวดเร็วต่อเศรษฐกิจกว่าทุกเทคโนโลยีที่ผ่านมา
ดังนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (กวทช.) จึงผลักดันให้มีการเริ่มจัดทำแผนการขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ AI ของประเทศ โดยในครั้งนี้ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากผู้บริหารหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เช่น อธิการบดี ข้าราชการระดับสูง CEO ปตท. SCG และไทยพาณิชย์ เป็นต้น ได้พิจารณาเห็นชอบร่างแผนการใช้ประโยชน์ AI พร้อมทั้งให้ความเห็นเชิงนโยบายก่อนนำเสนอคณะกรรมการ AI แห่งชาติต่อไป โดยแผนนี้จะทำให้เกิดการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ AI อย่างเป็นรูปธรรมเกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศและลดการเสียเปรียบทางเศรษฐกิจ โดยจะต้องใช้และพัฒนาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นคนไทยให้มากที่สุดและเร็วที่สุด ควบคู่กับการนำเข้าเทคโนโลยี AI จากต่างประเทศ โดยการทำงานต้องมีการวางแผน แบ่งงาน และร่วมมือกันอย่างเป็นระบบ พร้อมกลไกการสนับสนุนจากภาครัฐในจุดที่สำคัญ จึงจะประสบความสำเร็จในเชิงการใช้ประโยชน์และสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
นอกจากนั้น นางสาวศุภมาสฯ เปิดเผยว่า กระทรวง (อว.) ได้เตรียมรายชื่อคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (National AI Committee) ชุดใหม่ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้ร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกรรมการชุดนี้มีผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวง (อว.) เป็นเลขานุการร่วมกับเลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กระทรวง DE
ศาสตราจารย์ ดร.ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวเสริมว่า สาระสำคัญที่ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการในวันนี้มีประโยชน์ต่อการดำเนินงานเป็นอย่างมาก การเห็นชอบของคณะกรรมการ กวทช. ครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการลงรายละเอียดในการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์เพื่อการพัฒนาประเทศไทย พ.ศ.2565-2570 (Thailand National AI Strategy) ซึ่งอาศัยกำลังทั้งจาก สวทช. และหน่วยงานพันธมิตร เพราะจากผลสำรวจความพร้อมในการใช้งานเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ในประเทศไทย ในปี 2566 พบว่ามีหน่วยงานเพียง 15.2% จากกลุ่มตัวอย่างสำรวจที่ได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาใช้งานแล้ว แสดงถึงความต้องการขับเคลื่อนผลักดันระบบนิเวศของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในประเทศทั้งองคาพยพ
ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการดำเนินงานเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ai.in.th/