ไม่ใช่การไปเข้าเวรแทนครู เป็นการบูรณาการร่วมตรวจหลายฝ่าย ซึ่งรอความชัดเจนในการประชุมหารือ กำหนดแนวทางทำงานร่วมกัน ย้ำตำรวจมีหน้าที่โดยตรงดูแลความปลอดภัยพี่น้องประชาชนทุกภาคส่วนอยู่แล้ว แต่คงต้องร่วมหลายฝ่ายทำงาน
วันที่ 25 ม.ค.2567 พล.ต.ท.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยถึงกรณีครูถูกทำร้ายร่างกายขณะอยู่เฝ้าเวรโรงเรียนในวันหยุด ที่ จ.เชียงราย ทำให้มีมติคณะรัฐมนตรียกเลิกการอยู่เวรของครูในโรงเรียนและสถานศึกษาทั่วประเทศ ว่า ขณะนี้ทางกระทรวงศึกษาธิการได้มีหนังสือมาถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ขอความร่วมมือจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจดูแลความปลอดภัยและติดตั้งตู้แดงประจำสถานศึกษาแล้ว ซึ่งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะมอบหมายให้ฝ่ายป้องกันปราบปราม ไปประชุมหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย รวมทั้งภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ในการกำหนดรูปแบบการทำงานร่วมกันในการดูแลความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับครู อาจารย์ นักเรียนต่อไป โดยคงมีการหารือการแก้ปัญหาระยะสั้นในการออกตรวจตราของตำรวจ ร่วมกับ อปพร. อาสาสมัครชุมชน หมู่บ้าน รวมทั้งปัญหาระยาวในการเรื่องการติดตั้งกล้อง CCTV การเพิ่มงบประมาณต่างๆ เพื่อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาให้เป็นรูปธรรมยั่งยืนต่อไป คงต้องยอมรับว่าตำรวจทั่วประเทศมีเพียง 1,400 กว่าสถานีตำรวจ ขณะที่โรงเรียน สถานศึกษา มีหลายหมื่นแห่ง กำลังตำรวจเพียงหน่วยเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ต้องอาศัยความร่วมมือหลายๆภาคส่วน โดยเฉพาะ อปพร. อาสาสมัครชุมชน หมู่บ้าน ที่ขึ้นตรงกับกระทรวงมหาดไทย
นอกจากนี้ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ขอเรียนให้พี่น้องตำรวจและประชาชนได้ทราบว่า การทำหน้าที่ดังกล่าว ไม่ใช่การไปเข้าเวรประจำโรงเรียนแทนครู ซึ่งรูปแบบแนวทางการทำงาน การปฏิบัติหน้าที่จะเป็นอย่างไร คงต้องรอความชัดเจนของการประชุมหารือร่วมกัน แต่อย่างไรก็ตาม หน้าที่การรักษาความสงบเรียบร้อย การดูแลความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินของประชาชน เป็นหน้าที่โดยตรงของตำรวจอยู่แล้ว ไม่ใช่เฉพาะสถานศึกษา สถานที่ราชการอื่นๆ แม้กระทั่งบ้านเรือนพี่น้องประชาชน ตำรวจก็ต้องเข้าไปตรวจตราดูแลความเรียบร้อยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าในส่วนของสถานศึกษาคงจะมีการกำหนดเพิ่มความเข้มในการดำเนินการ ตามแนวทางที่จะต้องมีการหารือกับกระทรวงศึกษา และกระทรวงมหาดไทยต่อไป เพื่อบูรณาการร่วมปฏิบัติ