มหาวิทยาลัยรามคำแหง ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณี ที่ รองศาสตราจารย์ ยศระวี วายทองคำ อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ออกมาเคลื่อนไหว เรียกร้องขอความเป็นธรรมผ่านสื่อมวลชน กรณีถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง เรื่อง อนุมัติให้ผู้บริหารยืม Ipad ไปใช้ โดยมีกำหนดส่งคืนเมื่อครบกำหนดวาระการดำรงตำแหน่ง โดยกล่าวหาผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหงว่า จงใจกลั่นแกล้งตนเองให้ได้รับความเสียหายอย่างไม่เป็นธรรมนั้น
มหาวิทยาลัยรามคําแหง ยึดมั่นในหลักการตามกฎหมายมาโดยตลอดในการปกป้องชื่อเสียง เกียรติยศ และสิทธิของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัย โดยยังถือว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้บริสุทธิ์ตราบเท่าที่คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยยังไม่มีมติว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดแต่อย่างใด โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหงขอชี้แจงดังต่อไปนี้
- กรณีดังกล่าว มหาวิทยาลัยรามคำแหง ดำเนินการตามมติคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ได้มีหนังสือถึงมหาวิทยาลัย ให้ดำเนินการทางวินัยกับบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรณีดังกล่าว หาใช่เป็นการริเริ่มกระบวนการทางวินัยโดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง เองแต่อย่างใดไม่ สำหรับรายละเอียดในหนังสือดังกล่าวที่ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบนั้น มหาวิทยาลัยไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้ ทั้งนี้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 140
2.เมื่อมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับหนังสือดังกล่าวจากคณะกรรมการ ป.ป.ช. มหาวิทยาลัยได้ดำเนินการตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการสอบสวนพิจารณาทางวินัย พ.ศ.2564 โดยรักษาราชการแทนอธิการบดี ไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยโดยพละการ หากแต่ได้ดำเนินการตามครรลองแห่งกฎหมายโดยเคร่งครัดด้วยการเสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการบริหารงานบุคคลของมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เพื่อสอบทานข้อกล่าวหาและข้อเท็จจริงต่างๆ ในเอกสารของคณะกรรมการ ป.ป.ช. อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งต่อมาได้นำไปสู่การออกคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 2090/2566 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ซึ่งต่อมา คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงได้สรุปผลการสอบข้อเท็จจริงและรายงานต่อ คณะกรรมการ ก.บ.ม. ว่า กรณีดังกล่าวมีมูลเข้าข่ายการกระทำความผิดทางวินัย เห็นควรดำเนินการทางวินัยต่อไป
3.เมื่อคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับรายงานจากคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว จึงได้มีคำสั่งมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 4205/2566 ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2566 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรง กรณี อนุมัติให้ผู้บริหารยืม Ipad ไปใช้โดยมีกำหนดส่งคืนเมื่อครบวาระ มีลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้ผู้บริหารสามารถนำ Ipad ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตัวผิดจากวัตถุประสงค์แห่งการยืมและขัดต่อระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 ซึ่งในระหว่างนี้ ยังอยู่ในขั้นตอนของการสอบสวนพิจารณาทางวินัยตามข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหง ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และขั้นตอนในการสอบสวนพิจารณาทางวินัย พ.ศ.2564 โดยรองศาสตราจารย์ ยศระวี วายทองคำ สามารถใช้สิทธิในการชี้แจงข้อจริงหรือแก้ต่างข้อกล่าวหาดังกล่าวต่อคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอย่างร้ายแรงที่มหาวิทยาลัยได้แต่งตั้งขึ้นมาได้
4.จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มิได้ดำเนินการกลั่นแกล้งหรือกระทำการใดๆ ที่ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อรองศาสตราจารย์ ยศระวี วายทองคำ แต่อย่างใด หากแต่การออกมาเคลื่อนไหวผ่านสื่อมวลชนโดยกล่าวหาว่ามหาวิทยาลัย หรือผู้บริหารมหาวิทยาลัย กลั่นแกล้งตนเองนั้นอาจเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมายทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา ตลอดจนสื่อมวลชนบางสำนักที่แพร่กระจายข่าวที่อาจก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อมหาวิทยาลัย ก็อาจถูกดำเนินการตามกฎหมายได้ด้วยเช่นกัน
อนึ่ง มหาวิทยาลัยรามคำแหงขอกราบเรียนชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยได้พยายามดำเนินการให้เกิดความรักความสามัคคีภายในองค์กร เพื่อจักได้ร่วมกันพัฒนามหาวิทยาลัยให้มีความเจริญก้าวหน้าต่อไป รวมทั้งผู้บริหารมหาวิทยาลัยได้ให้เกียรติแก่ทุกฝ่ายและให้ความเคารพในความเห็นต่างอย่างสม่ำเสมอ หากแต่การดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่อาจเข้าข่ายกระทำความผิดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งในขณะนี้ยังมีอีกหลายกรณีที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้รับแจ้งจากหน่วยงานตรวจสอบภายนอกที่ได้แจ้งให้มหาวิทยาลัยดำเนินการตามกฎหมายกับบุคคลต่างๆ ที่อาจกระทำความผิดทั้งทางวินัย ทางแพ่ง และทางอาญา ฉะนั้น มหาวิทยาลัยจึงใคร่ขอวิงวอนทุกฝ่ายให้เคารพกฎหมายและร่วมกันพัฒนาและสร้างชื่อเสียงเกียรติคุณให้แก่มหาวิทยาลัยอันเป็นที่รักยิ่งของเราต่อไป