“…หลังรับทราบ ปม วัชระ จี้ขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ๑๐ ข้อ กรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ๑ ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ มีอาการป่วยเป็นเท็จหรือไม่ และอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่…”
วันที่ 19 มกราคม 2566 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า นางนสินี มหาขันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์บริการประชาชน ปฏิบัติราชการแทน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีหนังสือตอบรับแจ้งกลับมายังตนแล้ว กรณีที่ตนได้ยื่นหนังสือร้องเรียนขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวน ปม นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ๑ ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ มีอาการป่วยเป็นเท็จหรือไม่ และอยู่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่
โดยนายวัชระ กล่าวว่า ข้าราชการผู้รับหนังสือจากตนได้ส่งเรื่องให้นายพีระพันธุ์รับทราบและประสานส่งไปยังกระทรวงยุติธรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้นเรื่องดังกล่าว เกิดจากเมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๖๗ ตนได้มีหนังสือถึง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี กรณีที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม (ยกเว้นกรมสอบสวนคดีพิเศษ) นั้น ที่ผ่านมาตนได้รับการร้องเรียนจากประชาชนกรณีเคลือบแคลงสงสัยว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน ๓ คดี รวมกำหนดโทษจำคุก ๘ ปี และประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ มีการประกาศให้โทษจำคุกเหลือ ๑ ปี และข่าว นช. ทักษิณฯ ถูกส่งตัวจากเรือนจำเข้าโรงพยาบาลคืนวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ แต่ไม่ได้มีการจำคุกจริงตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. ๒๕๖๐ (ไม่เท่าเทียมนักโทษทั่วไป) ต่อมาตนได้มีหนังสือร้องเรียนกรณีดังกล่าวถึง พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เนื่องจากมีการเอื้อประโยชน์เพื่อช่วยเหลือ นช.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นบิดาของนางสาวแพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง หัวหน้าพรรคเพื่อไทยและรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลในรัฐบาลนี้
ในการนี้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือถึงตน แจ้งว่าได้ส่งเรื่องให้กระทรวงการคลังและกระทรวงยุติธรรมซึ่งมีหน้าที่และอำนาจเพื่อพิจารณา ซึ่งหมายถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ยังละเว้นไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามที่ตนได้ร้องเรียนตามหนังสือลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๖๖
ณ เวลานั้น ตนขอให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบกระทรวงยุติธรรม ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวน ๑๐ ข้อ กรณี นช.ทักษิณ ชินวัตร ต้องคำพิพากษาให้จำคุก ๑ ปี แต่ไม่ได้จำคุกจริงในเรือนจำแม้แต่วันเดียวจริงหรือไม่ ดังนี้
๑. ปรากฏข้อเท็จจริงว่าวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๖๖ กรมราชทัณฑ์มีการดำเนินการตามขั้นตอนเมื่อรับ นช.ทักษิณ ชินวัตร เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หรือไม่ มีการกรอกทะเบียนประวัตินักโทษ (ร.ท.๑๐๑) ครบทุกข้อจำนวน ๔ หน้าหรือไม่ ถ่ายรูปในชุดนักโทษและตัดผมทรงนักโทษหรือไม่ เข้าห้องขังหรือไม่ มีข้าราชการการเมืองสั่งการให้ข้าราชการกรมราชทัณฑ์กระทำการขัดต่อระเบียบ กฎ กฎหมายของกรมราชทัณฑ์หรือไม่ และขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งคลิปกล้องวงจรปิดของเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ในวันที่ ๒๒ – ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ ในจุดที่ นช.ทักษิณ เดินเข้าและออกจากเรือนจำแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และให้เปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย
๒. กรณีแพทย์โรงพยาบาลราชทัณฑ์ส่งตัว นช.ทักษิณ ชินวัตร ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจมีอาการเจ็บป่วยจริงหรือไม่ ออกใบรับรองเท็จหรือไม่ และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนแพทย์และพยาบาลทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย
๓. นช.ทักษิณ ชินวัตร อยู่พักรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจตลอดเวลาหรือไม่ ป่วยจริงหรือไม่ มีแพทย์และพยาบาลดำเนินการรักษาจริงทุกวันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๖๖ จนถึงปัจจุบันหรือไม่ มีเวชระเบียนการรักษาทุกวันหรือไม่ ขอให้เปิดเผยรายชื่อเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณไปโรงพยาบาลตำรวจทุกนาย และขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนเจ้าพนักงานเรือนจำที่ควบคุม นช.ทักษิณ ทุกนายและผู้ตรวจเวรที่ไปเฝ้า นช.ทักษิณทุกวันว่าได้พบ นช.ทักษิณหรือไม่ มีการบันทึกภาพหรือไม่ และมีอาการเจ็บป่วยหรือไม่ โดยขอให้กันข้าราชการที่ให้การเป็นประโยชน์ไว้เป็นพยานด้วย
๔. การออกระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. ๒๕๖๖ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้เร่งรัดบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการออกระเบียบให้ทันบังคับใช้ในปี ๒๕๖๖ หรือไม่ ขอให้ท่านมีข้อสั่งการให้กรมราชทัณฑ์ส่งสำเนาการประชุมการร่างออกระเบียบดังกล่าวทุกครั้งแก่คณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร และส่งสำเนาให้ตนด้วยจำนวน ๑ ชุด
๕. ขอให้ตั้งกรรมการสอบสวนกรณีกล้องวงจรปิดโรงพยาบาลตำรวจเสียทุกตัวทุกชั้นและขอให้ประสานงานสั่งการให้ติดตั้งกล้องวงจรปิดที่ชั้น ๑๔ โรงพยาบาลตำรวจภายใน ๗ วันเพราะ นช.ทักษิณ ชินวัตร มีสภาพเป็นนักโทษเด็ดขาดอยู่ภายใต้กฎหมายของกรมราชทัณฑ์
๖. ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. ๒๕๖๖ ลงวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๖๖ มีอำนาจเหนือคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา จำนวน ๓ คดี หรือไม่ และมีอำนาจเหนือราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ หรือไม่ การเร่งรัดออกระเบียบฯ เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ นช.ทักษิณเป็นการละเมิดพระราชอำนาจตามพระบรมราชโองการที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๖๖ หรือไม่ จะดำเนินการอย่างไร
๗. ขอให้บังคับโทษทางแพ่ง นช.ทักษิณ ชินวัตร ชำระเงินให้แก่รัฐคดีทุจริตปล่อยกู้ของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) จำนวนเงิน ๑๘๙,๑๒๕,๖๔๔.๕๕ บาท พร้อมดอกเบี้ย คดีหมายเลขแดง ที่ อม. ๔/๒๕๕๑ มีการบังคับคดีแล้วหรือยัง เมื่อไร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ถ้ายังไม่ดำเนินการ จะสั่งการตามอำนาจหน้าที่อย่างไร
๘. นช.ทักษิณ ชินวัตร พักรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจเกินกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบวัน ตามกฎกระทรวงการส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ พ.ศ. ๒๕๖๓ ข้อ ๗ (๓) ที่ต้องรายงานต่อรัฐมนตรีทราบนั้นขอให้เปิดเผยรายงานต่อพี่น้องประชาชนทั้งประเทศภายใน ๗ วัน
๙. ขอให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เดินทางไปโรงพยาบาลตำรวจชั้น ๑๔ ภายใน ๗ วัน เพื่อตรวจสอบว่า นช.ทักษิณ ชินวัตร ป่วยจริงหรือไม่ และอยู่โรงพยาบาลตลอดเวลาหรือไม่
๑๐. มีข่าวว่าจะมีการทำบัญชีโยกย้ายข้าราชกรมราชทัณฑ์ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของฝ่ายการเมืองในกรณีนี้หลายตำแหน่ง จะให้ความยุติธรรมเบื้องต้นแก่ข้าราชการอย่างไร
การกระทำของข้าราชการการเมืองและข้าราชการประจำตามข้อ ๑ – ข้อ ๘ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่างกรรมต่างวาระ ผิดประมวลจริยธรรมอย่างร้ายแรงจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนภายใน ๗ วันเพื่อผดุงไว้ซึ่งหลักนิติรัฐและนิติธรรม
ดังนั้นจึงขอให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกประเด็นในเรื่องนี้ เพื่อมาตรฐานความยุติธรรมที่เท่าเทียมกับนักโทษ ๒๘๐,๐๐๐ รายทั่วประเทศ รวมทั้งขอให้บังคับโทษทางอาญา นช.ทักษิณ ชินวัตร อย่างเคร่งครัด หากไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่พี่น้องประชาชนร้องเรียนตนมานี้ภายใน ๗ วัน ตนจำเป็นต้องยื่นร้องเรียนกล่าวโทษบุคคลที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่นายกรัฐมนตรีลงมาเพื่อให้ ป.ป.ช.สอบสวนตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกมาตราและสอบจริยธรรมร้ายแรงต่อไป และตนเชื่อมั่นว่าท่านรักษาและปฏิบัติตามกฎหมาย ด้วยหลักนิติรัฐ นิติธรรม และจริยธรรมทรงการเมืองอย่างเคร่งครัด จึงได้ส่งหนังสือร้องเรียนมา
ทั้งนี้ในหนังสือดังกล่าว ตนขอให้กันข้าราชการกรมราชทัณฑ์ แพทย์ พยาบาลโรงพยาบาลราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจที่ให้การตามความจริงและเป็นประโยชน์แก่ทางราชการทุกคนไว้เป็นพยานทุกราย และเอกสารทุกข้อ ข้าพเจ้ามีความประสงค์ที่จะขอตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. ๒๕๔๐ ขอให้จัดส่งแก่ข้าพเจ้าภายใน ๓๐ วัน พร้อมลงลายมือชื่อรับรองเอกสารทุกแผ่น
อนึ่งเมื่อวันที่ ๓ มกราคมที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ตอนหนึ่ง ว่า “คนอย่างผมไม่เคยเกรงใจใคร ถ้าหากทำไปแล้วพี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ ผมไม่เคยเกรงใจใคร”