วันที่ 17 ม.ค.2567 : นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ประธานกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ได้มอบหมาย น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รองประธานกรรมการ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ (กภช.) คร้ังที่ 1/2567 แทน โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัดกระทรวง (อว.) เป็นกรรมการและเลขานุการ และ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อํานวยการสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ รวมถึงมีกรรมการผู้แทนจากส่วนราชการ 15 หน่วยงาน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล
น.ส.ศุภมาสฯ กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้จะกำกับดูแลประเด็นสำคัญของประเทศชาติ คือ ด้านภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นการปรับปรุงทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อันเป็นภารกิจที่สำคัญต่อการพัฒนาในอนาคต โดยนำเทคโนโลยีมาบริหารราชการบ้านเมืองตามนโยบายของท่านนายกรัฐมนตรี ที่ว่ารัฐบาลจะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารประเทศ ตอบสนองความต้องการของประชาชนที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ และการมีระบบภูมิสารสนเทศที่ดีจะทำให้ประเทศและประชาชนมีความก้าวหน้าและก้าวทันนานาประเทศ
ทั้งนี้ คณะกรรมการภูมิสารสนเทศได้รับทราบรายละเอียดของแผนปฏิบัติการด้านภูมิสารสนเทศแห่งชาติ พ.ศ.2566–2570 ซึ่งมีเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยมีระบบภูมิสารสนเทศเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมถึงยกระดับการดำเนินงานด้านภูมิสารสนเทศของประเทศให้ทัดเทียมกับนานาชาติ โดยคณะกรรมการได้มอบหมายฝ่ายเลขานุการประสาน รวบรวม และกลั่นกรองโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่เกี่ยวกับระบบภูมิสารสนเทศต่อคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ และนำเสนอต่อสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณาสรรจัดงบประมาณประจำปีต่อไป โดยเฉพาะโครงการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 ที่หน่วยต่างๆ อยู่ระหว่างดำเนินการ
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาระบบภูมิสารสนเทศของหน่วยงานต่างๆ ที่พัฒนาเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ โดยในการประชุมครั้งนี้มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรมที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน และ สทอภ. ได้นำเสนอระบบภูมิสารสนเทศของหน่วยงาน เช่น การใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อจัดเก็บข้อมูลและจัดทำแผนที่ต่างๆ ระบบเพื่อการวางแผนการใช้ที่ดินเกษตรรายแปลง ระบบ Agri-Map ระบบตรวจสอบดิน รวมถึงให้บริการข้อมูลต่างๆ แบบ Open Data และ เชื่อมโยงข้อมูลกันภายใต้หน่วยงานภาครัฐ โดยมีประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับประชาชน เช่น การเตรียมการรองรับภัยพิบัติ การแจ้งเตือนในพื้นที่ท่องเที่ยว การจัดการแปลงที่ดิน เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นต่อระบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และมีมติให้จัดทำแผนงาน โครงการเพื่อนำไปขยายผลให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และสื่อสารให้ประชาชนรับทราบ นอกจากนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านภูมิสารสนเทศของประเทศ ใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการด้านภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาชั้นข้อมูลพื้นฐานของประเทศ ด้านการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนานวัตกรรมภูมิสารสนเทศ และ ด้านการกำหนดตำแหน่งนักภูมิสารสนเทศในระบบราชการพลเรือน โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ร่วมเป็นกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนภารกิจด้านภูมิสารสนเทศโดยมุ่งเน้นประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ