วันที่ 11 มกราคม 2567 สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท ร่วมกับสำนักงานเกษตรจังหวัดสิงห์บุรี สำนักงานเกษตรอำเภอบางระจัน และหน่วยงานภาคี จัดงานรณรงค์ลดการเผาในท้องถิ่น โครงการส่งเสริมการหยุดเผาในพื้นที่การเกษตร ปี พ.ศ. 2567 ณ แปลงใหญ่อ้อยตำบลเชิงกลัด หมู่ที่ 2 ตำบลเชิงกลัด อำเภอบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี โดยมี นายปัทพงศ์ สารบรรณ์ เกษตรจังหวัดสิงห์บุรี เป็นผู้กล่าวต้อนรับ นายวราดิศร อ่อนนุช รองผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี ประธานในพิธีเปิด ฯ และมี นางดวงสมร พฤฑฒิกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 1 จังหวัดชัยนาท เป็นผู้กล่าวรายงาน ฯ อีกทั้งยังมีผู้แทนจากจังหวัดทั้ง 9 จังหวัด ในพื้นที่ความรับผิดชอบของ สสก. 1 จ.ชัยนาท เข้าร่วมงานฯ โดยการจัดงาน ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ให้เกษตรกรตระหนักถึงผลกระทบจากการเผาในพื้นที่การเกษตร พร้อมนำเสนอทางเลือกการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตรทดแทนการเผา เพื่อให้เกษตรกรสามารถปรับเปลี่ยนวิธีการกำจัดเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรแบบดั้งเดิมเป็นการทำการเกษตรแบบปลอดการเผาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การคืนความสมดุลให้กับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คืนความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน ลดมลพิษทางอากาศ ลดผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ ได้อย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมในงานประกอบด้วย 1) นิทรรศการการส่งเสริมการหยุดเผา การใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา 2) ถ่ายทอดความรู้และสาธิตการใช้ประโยชน์จากวัสดุทางการเกษตร และเทคโนโลยีทางการเกษตรทดแทนการเผา 3) การให้บริการด้านการเกษตร จากหน่วยงานภาคราชการและเอกชน และการจัดงานงานรณรงค์ ฯ ในวันนี้ มีเกษตรกร เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาคราชการ รัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และผู้นำเกษตรกรเข้าร่วมงาน ฯ รวมจำนวนทั้งสิ้น 200 คน และมีหน่วยงานจำนวน ๒7 หน่วยงาน ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุน ซึ่งทำให้การจัดงาน ฯ ในครั้งนี้ เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีประสิทธิภาพ และสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
ทั้งนี้ การจัดงาน ฯ ดังกล่าว มีสาเหตุอันเนื่องมาจากสถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบันประสบปัญหาหมอกควันปกคลุม โดยเฉพาะ PM 2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างมาก สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากการเผาในพื้นที่เกษตร โดยเกษตรกรจะเผาหลังการเก็บเกี่ยวข้าว อ้อย และข้าวโพด เพื่อเร่งรอบการผลิตและสร้างความสะดวกในการไถเตรียมดินสำหรับฤดูกาลต่อไป หรือเผาในไร่อ้อยเพื่อลดต้นทุนค่าจ้างตัดอ้อย ซึ่งการเผาดังกล่าวยังทำลายอินทรีย์วัตถุ ธาตุอาหาร และโครงสร้างดิน ทำให้ดินขาดความอุดมสมบูรณ์ ผลผลิตจึงลดต่ำลง เกษตรกรมีต้นทุนในการปรับปรุงบำรุงดินสูงขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้น้อยลง และคุณภาพชีวิตก็น้อยลงตามไปด้วย ซึ่งจะเห็นได้ว่าการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรส่งผลกระทบต่อประชาชนและประเทศไทยเป็นวงกว้างทั้งระดับจุลภาคและมหภาค ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร จึงได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยการขับเคลื่อนนโยบายป้องกันและแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ประจำปี 2566/67 ด้วยการดำเนินการเชิงรุกผ่านหลักการ 3R Model ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ดังนี้ 1) การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปลูกพืชชนิดเดิมแบบไม่เผา โดยการนำเครื่องจักรเข้ามาช่วยในการเก็บเกี่ยว และส่งเสริมการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อลดการเผา (Re – Habit) 2) เปลี่ยนชนิดพืชที่ปลูกบนที่สูงจากพืชไร่เป็นไม้ผล พืชเศรษฐกิจแบบผสมผสาน ที่มีมูลค่าสูง เช่น อะโวกาโด ทุเรียน หรือไม้โตเร็ว หรือปลูกผักในโรงเรือน (Replace with perennial Crops) 3) เปลี่ยนเป็นพืชทางเลือกบนพื้นที่ราบ เปลี่ยนพื้นที่นาปรัง หรือพื้นที่นอกเขตชลประทานให้ปลูกข้าวโพดหรือพืชตระกูลถั่วทดแทนการทำนาปรัง (Replace with Alternate crops) โดยมีแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายทั้งหมด 3 ด้าน คือ 1) เตรียมการ โดยการส่งเสริมเกษตรปลอดการเผา บริหารจัดการเพิ่มมูลค่าเศษวัสดุทางการเกษตร 2) เผชิญเหตุ ตั้งชุดปฏิบัติการระดับอำเภอ เฝ้าระวังป้องปราม ระงับ ยับยั้ง 3) มาตรการการจัดการแปลงที่ปลอดการเผา สามารถตรวจสอบย้อนกลับด้วยมาตรฐาน GAP PM 2.5 Free
กชกร พวยไพบูลย์ผู้สื่อข่าวภูมิภาคประจำจังหวัดสิงห์บุรี