เมื่อวันที่ 7 ม.ค.2567 : ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามหาวิทยาลัยรามคำแหงเผยแพร่เอกสารข่าว กรณีศาลปกครองสูงสุด ไม่รับคำฟ้องของนายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ไว้พิจารณา และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ โดย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 มกราคม2567 ที่ผ่านมาคณะกรรมการบริหารงานบุคคลมหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้รับทราบคำสั่งศาลปกครองสูงสุดในคำร้องที่ 407/2566 คำสั่งที่1787/2566 ลงวันที่ 13 พฤศจิกายน 2566 โดยสรุป ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งถึงที่สุดเป็นไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี คือ นายสืบพงษ์ ปราบใหญ่ ไว้พิจารณา และสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
โดย คดีนี้ นายสืบพงษ์ฯ ได้ฟ้องสภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ 1 กับพวกรวม 27 คน โดยขอให้ศาลเพิกถอนมติและคำสั่งที่แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี และ รองอธิการบดีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยอ้างว่าศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองผู้ฟ้องคดีที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งอธิการบดีตามมติสภามหาวิทยาลัยรามคำแหงในการประชุมครั้งที่ 21/2565 เมื่อวันที่8 พฤศจิกายน2565 แล้ว คดีดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาของศาลปกครองกลางและศาลปกครองสูงสุดจนนำมาสู่คำสั่งของศาลปกครองสูงสุด คำสั่งที่ 1787/2566 ที่ส่งถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหงเมื่อวันที่20 ธันวาคม 2566โดยผลของการพิจารณามีสาระสำคัญ ดังนี้
ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งว่าให้จำหน่ายคำฟ้องข้อหาที่ 1 และข้อหาที่2 และไม่รับคำฟ้องข้อหาที่3 และข้อหาที่4 ไว้พิจารณา กับให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความ ต่อมานายสืบพงษ์ อุทธรณ์คำสั่งต่อศาลปกครองสูงสุด ขอให้ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณา
ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนในตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเป็นการแต่งตั้งบุคคลผู้มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีเพื่อให้การบริหารงานในมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 21/2565 ถอดถอนผู้ฟ้องคดีออกจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง และภายหลังมหาวิทยาลัยรามคำแหงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 15 พฤศจิกายน2565 บอกเลิกสัญญาจ้างผู้ฟ้องคดี จากการเป็นอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยรามคำแหงแล้ว จึงเป็นกรณีที่ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งอธิการบดีในขณะนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ในการประชุมครั้งที่ 3/2566 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 จึงมีมติแต่งตั้งผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เป็นผู้รักษาราชการแทนอธิการบดี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25 วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2541 และอาศัยอำนาจตามมาตรา18 (4) มาตรา 22 และมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน แต่งตั้งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เพื่อทำหน้าที่และรับผิดชอบตามที่อธิการบดีมอบหมาย
การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีมติดังกล่าวจึงเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลอันมีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 แต่คำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลกระทบต่อบุคคล ผู้ได้รับแต่งตั้งให้รักษาราชการแทนอธิการบดี และผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดี เมื่อข้อเท็จจริงปรากฎว่า ในขณะที่ผู้ฟ้องคดี นำคดีนี้มาฟ้องต่อศาลเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2566 ผู้ฟ้องคดีได้พ้นจากตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ตามมติของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แล้วคำสั่งแต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนอธิการบดีและคำสั่งแต่งตั้งรองอธิการบดีที่เป็นเหตุแห่งการฟ้องคดี จึงไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีแต่ผู้ที่ได้รับผลกระทบคือผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งดังกล่าว
การที่ศาลปกครองขั้นต้น มีคำสั่งจำหน่ายคำฟ้องข้อหาที่หนึ่งและข้อหาที่สอง และไม่รับคำฟ้องข้อหาที่สามและข้อหาที่สี่ไว้พิจารณา กับให้จำหน่ายคดีนี้ออกจากสารบบความนั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วยบางส่วนจึงมีคำสั่งแก้คำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น เป็นไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้เกิดจากการที่สภามหาวิทยาลัยรามคำแหง ตรวจสอบพบว่า นายสืบพงษ์ฯ ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอกจากสถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ที่สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพ.) ไม่รับรองมาสมัครงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ตั้งแต่ปี 2554 และเป็นเหตุที่ทำให้มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีคำสั่งถอดถอนนายสืบพงษ์ฯ ออกจากตำแหน่งอธิการบดี ด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรง 3 ประการ คือ 1.ใช้วุฒิการศึกษาปริญญาเอก สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ โดยวุฒิการศึกษาดังกล่าวไม่ได้รับการรับรองจากสำนักงาน (ก.พ.),2.ปกปิดหรือไม่รายงานประวัติการถูกยึดทรัพย์ที่เกี่ยวพันกับบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ และ 3.ทูลเกล้าฯ ถวายฎีการ้องขอความเป็นธรรม ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ
มหาวิทยาลับรามคำแหง ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า การที่นายสืบพงษ์ฯ นำวุฒิการศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองจาก (ก.พ.) สมัครเข้าทำงานในตำแหน่งอาจารย์ ถือว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติของการเป็นอาจารย์มาตั้งแต่ต้น อันเป็นการผิดเงื่อนไขสัญญาจ้างและผิดระเบียบและข้อบังคับมหาวิทยาลัยรามคำแหงที่เกี่ยวข้อง มหาวิทยาลัยจึงได้บอกเลิกสัญญาจ้าง (หนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างที่ 0601/2851 ลงวันที่15 พฤศจิกายน 2565 )กับนายสืบพงษ์ฯ แล้ว ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 21 พฤศจิกายน 2565 และมหาวิทยาลัยฯ จะได้พิจารณาดำเนินการตามกฎหมายในประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป และกรณีนี้นับเป็นกรณีแรกของมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่ใช้มติเลิกจ้างผู้บริหารมหาวิทยาลัยฯ เพราะดำเนินการผิดกฎหมายและขัดจริยธรรมร้ายแรง
คณะอนุกรรมการด้านการพิจารณาคุณวุฒิผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้พิจารณาข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนและการสืบค้นข้อมูลจากองค์การที่มีหน้าที่รับรองวิทยฐานะระดับหลักสูตรด้านบริหารธุรกิจ พบว่า Accrediting Council for Independent Colleges and schools (ACICS) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองวิทยฐานะของสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกา ให้การรับรองวิทยฐานะระดับสถาบันของ Pacific Stater University ให้จัดมีการเรียนการสอนในระดับชั้นปริญญาตรีและปริญญาโท แต่ไม่ปรากฏข้อมูลการได้รับการรับรองวิทยฐานะเพื่อให้จัดการเรียนการสอนระดับปริญญาเอก ในช่วงระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีศึกษาและไม่ปรากฎข้อมูลการรับรองวิทยฐานะระดับหลักสูตร ของหลักสูตร Doctor of Business Administration จากองค์การที่มีหน้าที่รับรองด้านบริหารธุรกิจ
ดังนั้น จึงมีมติว่า ไม่สามารถพิจารณาคุณวุฒิ Doctor of Business Administration จาก Pacific Stater University ประเทศสหรัฐอเมริกา ของผู้ฟ้องคดีได้เนื่องจากไม่ปรากฎข้อมูลการได้รับการรับรองวิทยฐานะของคุณวุฒิดังกล่าวในช่วงระยะเวลาที่ผู้ฟ้องคดีศึกษา