สั่งการ ม.นราธิวาสราชนครินทร์-มรภ.ยะลา-มทร.ศรีวิชัย-ม.อ.ปัตตานี ให้การช่วยเหลือดูแลอย่างเร่งด่วน ทั้งการแพทย์ ซ่อมแซมที่อยู่อาศัย เครื่องยนต์ เครื่องไฟฟ้า จัดหาเครื่องอุปโภค-บริโภค เปิดระดมทุน พร้อมเตรียมแผนฟื้นฟูระยะยาว
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2566 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วาตภัย อุทกภัย และดินโคลนถล่มในหลายพื้นที่ทางภาคใต้ของประเทศไทย ตนมีความเป็นห่วงพี่น้องประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้สั่งการให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่ของกระทรวง (อว.) ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ (มนร.),มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา (มรภ.ยะลา),มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (มทร.ศรีวิชัย) เข้าไปช่วยเหลือดูแลพี่น้องประชาชนผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน โดย (มนร.) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.นราธิวาส เป็นพื้นที่ประสบภัยหนักที่สุด โดยในวันที่ 25-27 ธ.ค.2566 ได้เปิดครัวปรุงอาหารช่วยประชาชนที่อยู่ในพื้นที่วิกฤตกว่า 900 ครัวเรือน พร้อมจัดหาและมอบถุงยังชีพกว่า 800 ชุด โดยพื้นที่ที่ (มนร.) ให้การช่วยเหลือ คือ อ.ระเเงะ,อ.ยี่งอ,อ.เมือง และ อ.สุไหงโกลก นอกจากนี้ ยังเปิด “ศูนย์ (มนร.) ห่วงใยวิชาชีพ รวมใจฟื้นฟูชาวนรา” เพื่อดำเนินการตรวจรักษาและให้คำแนะนำทางการแพทย์พื้นฐานในพื้นที่โดยแพทย์และพยาบาล นอกจากนี้ ยังมีบริการซ่อมแซมจักรยานยนต์ เครื่องตัดหญ้า เครื่องสูบน้ำ และเตาแก๊ส โดยช่างยนต์และเครื่องกล ซ่อมแซมพัดลม เตารีด หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เครื่องปั่น หม้ออบลมร้อน และตู้เย็น โดยช่างไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ซ่อมแซมกระเบื้องลอนคู่ และสังกะสีฝาผนังบ้าน โดยช่างก่อสร้าง
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ขณะที่ (มรภ.ยะลา) และ (มทร.ศรีวิชัย) ได้ร่วมมือกับมูลนิธิซะกาตและสาธารณกุศล ระดมทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ พร้อมลงพื้นที่ดูแลด้านการอุปโภค บริโภค และซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะใน 3 อำเภอ คือ อ.รามัน,อ.บันนังสตา และ อ.กรงปินัง ด้าน (ม.อ.ปัตตานี) ได้ลงพื้นที่เปิดครัวที่ อ.สายบุรี และ อ.ทุ่งยางแดง ซึ่งได้รับผลกระทบหนักสุดในตอนนี้และมีการระดมทุนช่วยเหลือโดยศูนย์อาสาลูกพระบิดาร่วมกับ โครงการวิจัยแก้ปัญหาความยากจน จ.ปัตตานี พร้อมนี้ยังได้มีการวางแนวทางดำเนินการฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบระยะยาวหลังสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายต่อไป
“นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานภายใต้กระทรวง (อว.) เข้าไปให้การช่วยเหลือ เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จะนำกางเกงแก้วที่มีคุณสมบัติกันน้ำได้ไปแจกจ่าย เพื่อช่วยป้องกันการติดโรค เช่น ฉี่หนู น้ำกัดเท้า หรือป้องกันการติดเชื้ออื่นๆ ที่อาจมากับน้ำ และนำผลงานวิจัยเครื่องกรองน้ำ SOS ไปติดตั้ง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำดื่มที่สะอาดบริโภค ขณะเดียวกัน ยังมีสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ที่ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ รวมถึงสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (สสน.) ยังเปิดระบบ “ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้” พร้อมให้พี่น้องประชาชนใช้งาน อัปเดตสถานการณ์แบบ Real Time ทั้งปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่ ระดับน้ำในแม่น้ำสำคัญ คาดการณ์ฝนตกล่วงหน้า คาดการณ์น้ำทะเลหนุน และพื้นที่น้ำท่วมในรอบ 7 วันที่ผ่านมา เพียงคลิกไปที่ เว็บไซต์ www.thaiwater.net เป็นต้น” นางสาวศุภมาสฯ กล่าว