รอยเตอร์ส สื่อชื่อดังของอังกฤษ รายงานว่า คณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น อนุมัติร่างกฎหมายเอาผิดผู้ที่สมคบคิดก่ออาชญากรรม (criminal conspiracies) ในวันนี้ โดยให้เหตุผลว่า รัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการป้องกันการก่อเหตุร้าย ในช่วงที่ โตเกียว เป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2020 ขณะที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่า กฎหมายฉบับนี้อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือลิดรอนสิทธิเสรีภาพพลเมือง
ด้าน โยชิฮิเดะ สุกะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น แถลงต่อสื่อมวลชนว่า มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็น ในยุคที่โลกต้องเผชิญภัยคุกคามจากลัทธิก่อการร้ายเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการรับรองอนุสัญญาสหประชาชาติ ที่มุ่งปราบปรามการก่ออาชญากรรมข้ามชาติ เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงก่อการร้ายในยุคปัจจุบัน ตลอดจนการแข่งขันโอลิมปิก และพาราโอลิมปิก ที่จะมีขึ้นในอีก 3 ปีข้างหน้า รัฐบาลจึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการสกัดกั้นองค์กรอาชญากรรม รวมถึงลัทธิก่อการร้าย
รัฐบาลญี่ปุ่น มีความพยายามที่จะออกกฎหมายลักษณะนี้ มาตั้งแต่ปี 2000 หลังจากที่ ยูเอ็น ได้ประกาศอนุสัญญาสหประชาชาติ การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ที่จัดตั้งในลักษณะองค์กร (Convention against Transnational Organised Crime) การผลักดันร่างกฎหมายคราวนี้ นับว่ามีโอกาสสำเร็จมากที่สุด เนื่องจากรัฐบาลผสมของ ชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรี ที่ครองเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ทั้งสองสภา อีกทั้งเหตุโจมตีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ทำให้คน ญี่ปุ่น เริ่มหวั่นวิตกว่า จะมีการก่อการร้ายเกิดขึ้นในช่วงของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก หรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจที่เผยแพร่โดยสำนักข่าว เกียวโด เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา พบว่า ชาวญี่ปุ่น 45.5% ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายนี้ และมีเพียง 33% เท่านั้นที่สนับสนุน แต่ สุกะ ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้มุ่งเล่นงานเฉพาะกลุ่มบุคคลที่มีแผนก่อการร้าย หรือองค์กรอาชญากรรมอื่นๆ เท่านั้น ส่วนกิจกรรมที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย ของพลเรือน หรือสหภาพแรงงานต่างๆ จะไม่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ สมาพันธ์ทนายความแห่งญี่ปุ่น (Japan Federation of Bar Associations) และกลุ่มที่คัดค้านกฎหมายฉบับนี้ ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาล อาเบะ พยายามยกภัยก่อการร้ายมาเป็นข้ออ้าง คุกคามสิทธิเสรีภาพของบุคคล รวมถึงควบคุมกิจกรรมของกลุ่มพลเมืองรากหญ้าที่ต่อต้านนโยบายของรัฐ เช่น การก่อสร้างฐานทัพสหรัฐฯ บนเกาะโอกินาวา เป็นต้น
ทั้งนี้ ลอว์เรนซ์ เรเพตา อาจารย์ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยเมจิ ในกรุงโตเกียว ให้ความเห็นว่า หน่วยงานด้านความมั่นคงสาธารณะ เช่น ตำรวจและอัยการ พยายามนำกฎหมายอาญามาตีความให้กว้าง และยืดหยุ่นเกินเหตุ ทั้งที่โอกาสในการเกิดอาชญากรรมก็ยังน้อยมาก ส่วนสมาพันธ์ทนายความญี่ปุ่น ชี้ว่า ญี่ปุ่นมีกฎหมายเอาผิดผู้ที่ตระเตรียมก่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม วางเพลิง ก่อความไม่สงบ หรือใช้วัตถุระเบิดอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายอื่นเพิ่มเติมอีก