ที่บริเวณอุทยานธรณีใต้ท้องทะเลดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้มีการจัดประกวด “ธิดาใต้ท้องทะเล 240 ล้านปี” ครั้งที่2 ประจำปี 2566 โดยมีนางวัลลา กฤษดี นายกองค์การบริหารส่วนตำบลภูน้ำหยด เป็นประธานเปิดงาน นายอัคร ทองใจสด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเพชรบูรณ์ นายไพสน กลิ่นเจริญ กำนันตำบลภูน้ำหยด ผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน สมาชิก อบต.ผู้บริหารสถานศึกษา ส่วนราชการและประชาชนร่วมงาน
นายจตุรงค์ พวงเต็ง รองปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลภูน้ำหยด กล่าวรายงานว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการมาแล้วครั้งหนึ่ง เมื่อปี 2563 แต่เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การจัดงานหยุดชะงักไป เมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงได้รื้อฟืนการจัดงานอีกครั้งเพื่อเป็นการส่งเสริมให้ เยาวชน ประชาชน มีความมั่นใจและกล้าแสดงออก อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตามนโยบายของภาครัฐในการนำ Soft Power ในชุมชนมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยการประกวด “ธิดาใต้ท้องทะเล240ล้านปี” ในครั้งนี้แบ่งการประกวดออกเป็นทั้งหมด 2 ประเภท ได้แก่ ประเภททั่วไป เกณฑ์เข้าประกวด เป็นสุภาพสตรี อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี แต่ไม่เกิน 27 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีสาวงามเข้าประกวด 8 คน ใช้เกณฑ์ตัดสิน ความงามใบหน้า ,กิริยา มารยาท , ชุดที่สวมใส่ ,ปฏิภาณไหวพริบ,ความสามารถพิเศษ ซึ่งแต่ละคนที่เข้าประกวด ต่างโชว์ทักษะ ความสามารถทั้งการร้อง รำและการแสดง กันอย่างสูสี ซึ่งผลการประกวดประเภทนี้ คือ ผู้เข้าประกวดหมายเลข 4นางสาว ภุมวารี ชุมสาย หรือน้องมิ้ง.สามารถพิจิตใจคณะกรรมการ คว้ามงกุฏพร้อมสายสะพายไปครองได้สำเร็จ
ส่วนประเภทผู้สูงอายุ เกณฑ์เข้าประกวด อายุ 60 ปี ขึ้นไป ภูมิลำเนาอยู่ในตำบลภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี มีผู้เข้าประกวด ทั้งหมด 11 คน ใช้เกณฑ์ตัดสิน บุคลิกภาพดี สวยงามสมวัย , ความสามารถพิเศษ ,ชุดที่สวมใส่สวยงาม มีแนวคิดสร้างสรรค์ โดยประดิษฐ์จากเปลือกหอย หรือ วัสดุธรรมดา ซึ่งแต่ละคนที่เข้าประกวด ต่างประดิษฐ์ชุดจากเปลือกหอยและวัสดุเหลือใช้ ได้อย่างงดงามลงตัว ซึ่งได้รับเสียงเชียร์จากพวงมาลัยที่ลูกหลานต่างจับจองซื้อหามามอบให้อย่างคึกคัก พร้อมทั้งโชว์ความสามารถ กันอย่างสุดเหวี่ยงไม่ว่าจะเป็นการเต้นประกอบเพลงสาวแหล่ สาวบางโพ ร้องเพลงคนดังลืมหลังควาย ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็น จนคณะกรรมการต้องให้คะแนนกันอย่างสูสี แบบเฉือนกันหวุดหวิด ซึ่งผลการประกวดประเภทนี้ คือ ผู้ประกวดหมายเลข 3 นางทองสุข ขุนสันเที๊ยะ คว้ามงกุฏพร้อมสายสะพายไปครอง
สำหรับแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยด ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี จ.เพชรบูรณ์ เป็นเสมือนสมุดบันทึกประวัติศาสตร์ของโลก ที่สามารถสืบสาวเรื่องราวย้อนไปได้ถึง 300 กว่าล้านปี หลักฐานต่าง ๆ ที่บันทึกอยู่ในเนื้อหินได้บ่งบอกถึงสภาพแวดล้อมสมัยโบราณในช่วงเวลานั้น ผ่านกาลเวลาและการกัดเซาะผุกร่อนมานับล้าน ๆ ปี จนกลายเป็นเนินหินตะปุ่มตะป่ำอย่างที่เห็นทุกวันนี้ กรวดก้อนกลม ๆ ขนาดต่าง ๆ ที่ประสานรวมกันเป็นพืดหินบริเวณแหล่งภูน้ำหยดแห่งนี้ มีชื่อเรียกว่า “หินกรวดมน” ซึ่งเป็นหินตะกอนประเภทหนึ่ง เกิดขึ้นมาบนโลกเมื่อประมาณ 220 ล้านปีก่อน ก้อนกรวดที่เกาะรวมกันเป็นหินกรวดมนนี้มีต้นกำเนิดมาจากหลากหลายที่ ส่วนใหญ่แล้วมาจากหินซึ่งเกิดอยู่ในทะเล ดังนั้นจึงสามารถพบซากสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ที่เคยอาศัยอยู่ในทะเลในช่วงเวลานั้น เช่น ปะการัง หอยฝาเดียว หอยสองฝา หอยตะเกียง หอยงวงช้าง หอยบิน ฟองน้ำ พลับพลึงทะเล คตข้าวสารหรือฟิวซูลินิด กลุ่มสัตว์เซลล์เดียว และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งซากดึกดำบรรพ์เหล่านี้ล้วนแต่มีอายุเก่าแก่กว่าตัวหินกรวดมนเอง โดยมีอายุตั้งแต่ประมาณ 315 – 265 ล้านปี นอกจากนี้ยังพบก้อนกรวดที่เป็นหินภูเขาไฟอีกด้วย พื้นที่ลักษณะเช่นนี้ครอบคลุมเป็นบริเวณกว้างมาก มีทั้งเป็นเนินเขาและที่ราบ ดูน่าตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก โดยนักวิชาการชี้แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้ำหยดมีความสำคัญระดับโลก ยกเทียบแนวปะการังเกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef)ทวีปออสเตรียเลีย ชี้เป็นหลักฐานมหาสมุทรที่คั่น 2 แผ่นเปลือกโลกอินโด-ไชน่าและฉาน-ไทยที่หลงเหลืออยู่
มนสิชา คล้ายแก้ว