เมื่อวันทึ่ 22 ธันวาคม 2566 : กรมสอบสวนคดีพิเศษขอรายงานการปฏิบัติหน้าที่ของกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค ภายใต้การอำนวยการของ พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รักษาการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.พเยาว์ ทองเสน รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้มอบหมายให้ พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ ผู้อำนวยการกองคดีคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่กองคดีคุ้มครองผู้บริโภค บูรณาการร่วมกับเจ้าหน้าที่กรมวิชาการเกษตร นำหมายค้นของศาลอาญา เข้าตรวจค้นเป้าหมาย 3 จุด เพื่อค้นหาพยานหลักฐานเอกสารและข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด กรณี บริษัท เรนโบว์ อไกรไชเอนเชส จำกัด มีการนำเข้า สารไกลโฟเซต ไอโซโพรพิลแอมโมเนียมจากต่างประเทศ เพื่อจำหน่ายให้กับผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เคมีทางการเกษตรโดยมิชอบด้วยกฎหมายที่กองคดีคุ้มครองผู้บริโภคทำการสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 79/2566 ซึ่งสืบเนื่องจากมีกลุ่มบุคคลมีพฤติการณ์ในการนำเข้าสารไกลโฟเซต ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยสำแดงผ่านพิธีการศุลกากรเป็นเท็จว่าเป็นสาร 2,4D ไดเมทิลแอมโมเนียม อันเป็นความผิดในข้อหานำเข้าและครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นวัตถุอันตรายปลอม และไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามมาตรา 23 วรรคแรก มาตรา 45 (1) ประกอบมาตรา 47 (2) มาตรา 45(4) แห่ง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สารไกลโฟเซตดังกล่าว จัดเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ที่รัฐจำกัดปริมาณการใช้งาน เนื่องจากเป็นสารเคมีที่ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ใช้งาน เช่น อาจก่อให้เกิดมะเร็ง หรือหากได้รับสารเคมีในปริมาณมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โดยเมื่อวันอังคารที่ 19 ธันวาคม 2566 คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษได้สนธิกำลังกับเจ้าหน้าที่ กรมวิชาการเกษตร เข้าตรวจค้น บริษัท เรนโบว์ฯ ตั้งอยู่ที่เขตวังทองหลาง กรุงเทพ และ บริษัท อโกร ไอริส (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ที่เขตยานนาวา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าสารไกลโฟเซตที่มีการอายัดไว้ก่อนหน้านี้ และต่อมาในวันพฤหัสบดี ที่ 21 ธันวาคม 2566 เจ้าหน้าที่ได้ทำการขยายผลต่อเนื่องโดยนำหมายค้นศาลอาญา เข้าตรวจค้นบริษัท วี.ซี.เอส.อโกร เคม จำกัด อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานีซึ่งเกี่ยวข้องกับการซื้อขายฯ อีกทั้งยังเป็นสถานที่จัดเก็บสารไกลโฟเซตฯ เพื่อค้นหาพยานหลักฐานซึ่งเป็นข้อมูลการซื้อขายสินค้าของกลางในคดีและความเชื่อมโยง ผลการตรวจค้น สามารถพบพยานหลักฐานเกี่ยวกับคดีและค้นพบสารไกลโฟเซต ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายประเภทที่ 3 จำนวนทั้งสิ้น 721 ถัง ปริมาณ 144,200 ลิตรมูลค่าประมาณ 17 ล้านบาท จึงยึดเป็นของกลางในคดี และมอบให้กรมวิชาการเกษตร ขนย้ายไปเก็บรักษาที่ศูนย์วิจัยยาง จังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ โดยคณะพนักงานสอบสวนกองคดีคุ้มครองผู้บริโภคจะได้ทำการขยายผลไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดทุกรายต่อไป