เช้าวันที่ 14 ธันวาคม 2566 : นายทวีศักดิ์ อำลา ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนโยบายและแผน เป็นประธานเปิดการอบรมพัฒนาศักยภาพครูในการส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 ธันวาคม 2566 โดยมี นางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา คณะทำงานกลุ่มกิจการนักเรียน คณะวิทยากรจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ และครูโรงเรียนเอกชนที่เข้าร่วมรับการอบรมฯ เข้าร่วมในพิธีเปิด ณ โรงแรมเดอะ พาลาสโซ รัชดำ เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร
นายทวีศักดิ์ฯ กล่าวว่า พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายการศึกษา และการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” โดยมีหลักการสำคัญ คือการเรียนการสอนต้องเริ่มจากความสุขของผู้เรียน เมื่อมีความสุขจะส่งผลให้การเรียนดีขึ้น ดังนั้น การส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียนในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนักเรียน คือ ผู้บริหารโรงเรียน ครูประจำชั้น ครูแนะแนวและเจ้าหน้าที่ของโรงเรียนนั้น เป็นบุคคลสำคัญในการป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียน จึงจำเป็นต้องมีความรู้ด้านการประเมินภาวะเสี่ยง ทางสุขภาพจิตและสามารถให้คำปรึกษาแก่นักเรียนได้อีกด้วย เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่าง สช. กับกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน โดยการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อการดูแล ให้คำปรึกษาและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ (สช.) ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศ ตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพครูในการส่งเสริมสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน ให้กับผู้บริหารและครูโรงเรียนเอกชน โดยในการจัดอบรมครั้งนี้เป็นรุ่นที่ 1 ซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนในเขตกรุงเทพมหานครผู้เข้าร่วมอบรม คือ ผู้บริหาร ครูแนะแนวและครูที่ปรึกษา รวมทั้งสิ้น 120 คน และได้รับความร่วมมือจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ที่ให้ความอนุเคราะห์จัดทำหลักสูตรและสนับสนุนคณะวิทยากรในการอบรมฯ ในครั้งนี้ด้วย
นางภัทราพรรณ เล็งวัฒนากิจ ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา กล่าวด้วยว่า การพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพและมีความมั่นคงในชีวิต โดยผ่านกระบวนการทางการศึกษานั้น นอกจากจะดำเนินการในลักษณะการจัดการเรียนการสอนแล้ว การดูแลช่วยเหลือ การให้คำปรึกษา และการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้น พลตำรวจเอกเพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อจัดทำแผนงานการส่งเสริมด้านสุขภาพจิตในโรงเรียน เนื่องจากบุคลากรทุกคนในโรงเรียน โดยเฉพาะครูที่ปรึกษาและครูแนะแนว ซึ่งเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดนักเรียนที่สุด เป็นบุคคลสำคัญที่จะค้นพบปัญหาและให้การช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้ตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งส่งเสริมสุขภาวะทางใจเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองให้เติบโต เป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป