กรุงเวียนนา เมืองหลวงของ ออสเตรีย รั้งแชมป์เมืองที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลก 8 ปีซ้อน ตามการจัดอันดับ โดยบริษัทที่ปรึกษา เมอร์เซอร์ กรุ๊ป ขณะที่อันดับบ๊วยตกเป็นของกรุงแบกแดด ประเทศอิรัก ส่วนสิงคโปร์ครองที่ 1 ในเอเชีย
ผลสำรวจคุณภาพชีวิตประชากรใน 231 เมืองใหญ่ทั่วโลก เพื่อเป็นข้อมูลให้กับบริษัทและองค์กรในการพิจารณาจ่ายเงินชดเชย และเบี้ยเลี้ยงค่าใช้จ่ายสำหรับเจ้าหน้าที่ที่จะต้องไปประจำการในต่างประเทศ โดยใช้เกณฑ์การวิเคราะห์ อาทิ เสถียรภาพทางการเมือง ประกันสุขภาพ การศึกษา อาชญากรรม สันทนาการ และการคมนาคมขนส่ง เป็นต้น
ขณะที่เมืองศูนย์กลางธุรกิจของโลกอย่าง ลอนดอน, ปารีส, โตเกียว และ นิวยอร์ก ล้วนไม่ติด 30 อันดับแรก ในลิสต์ของ เมอร์เซอร์ และยังตามหลังอีกหลายเมืองของประเทศเยอรมนี, ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย, แคนาดา, นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย
สิงคโปร์ ถูกยกให้เป็นเมืองที่ประชากรมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในเอเชีย โดยติดอันดับที่ 25 ของโลก ขณะที่ ซานฟรานซิสโก อยู่ในลำดับที่ 29 และเป็นที่ 1 ในสหรัฐฯ ส่วน เดอร์บัน เมืองริมชายทะเลของแอฟริกาใต้ รั้งแชมป์อันดับ 1 ในภูมิภาคแอฟริกา และอยู่ในลำดับที่ 87 ของโลก
กรุงเวียนนา มีประชากรราว 1.8 ล้านคน โด่ดเด่นในเรื่องวัฒนธรรม (ร้านกาแฟ), พิพิธภัณฑ์ โรงละคร และโอเปร่าเฮาส์ โดยค่าเช่าอาคารและค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางภายในเมือง ซึ่งเคยเป็นศูนย์กลางของจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี ก็ถือว่าถูกกว่าเมืองหลวงอื่นๆ ในโลกตะวันตก ส่วนเมืองที่ติด 5 อันดับแรกของโลกรองจากเวียนนา ได้แก่ ซูริค (สวิต), อ็อคแลนด์ (นิวซีแลนด์), มิวนิค (เยอรมนี) และแวนคูเวอร์ (แคนาดา)
กรุงแบกแดด ของอิรัก ติดอันดับคุณภาพแย่ที่สุดในโลก เพราะเหตุรุนแรงที่ยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่เมืองหลวงของอิรัก ถูกสหรัฐรุกรานในปี 2546 นอกจากนั้นก็ยังมี กรุงดามัสกัสเมืองหลวงของซีเรีย ติดอันดับที่ 7 จากท้ายตารางเพราะสงครามกลางเมืองในซีเรียที่ผ่านมา 6 ปีแล้ว กรุงบังกีของสาธารณรัฐแอฟริกากลาง, กรุงซานา ของเยเมน, กรุงปอร์โตแปรงซ์ ของเฮติ, กรุงคาร์ทูม ของซูดาน และกรุงอึนจาเมนา ของสาธารณรัฐชาด ถูกจัดรวมอยู่ในกลุ่มท้ายตาราง
ทั้งนี้ กรุงเทพมหานคร ของไทย ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 131 ของโลก และเป็นที่ 5 ของอาเซียน รองจากสิงคโปร์, กัวลาลัมเปอร์, ยะโฮร์บารู (มาเลเซีย) และ บันดาร์เสรีเบกาวัน (บรูไน)