นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค เผยว่า จากกรณีศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องกรณี บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ฟ้องร้อง จำเลยว่าที่ร้อยเอกธรรมนัส แก้วบุญส่ง เรื่องผิดสัญญาเงินกู้สินเชื่อจำนำโฉนด โดยศาลชั้นต้นให้เหตุผลว่า บริษัทมหาชนดังกล่าวไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ผู้บริโภคได้ทำสัญญากู้ และได้รับเงินจริง และสัญญาที่นำมาแสดงต่อศาลเป็นเอกสารปลอมจึงตัดสินยกฟ้อง โดยเวลาต่อมา บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์เปอเรชั่น ออกมาชี้แจงหลังคำพิพากษาชั้นต้นว่า กรณีดังกล่าวไม่เป็นความจริงทางบริษัทไม่มีนโยบายและการทำงานที่ขัดต่อกฏหมาย ทางบริษัทมีหลักฐานภาพถ่ายผู้บริโภคลงนามในสัญญาและหลักฐานการโอนเงินเข้าบัญชี พร้อมระบุว่าคดียังไม่สิ้นสุด จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าบริษัทปลอมแปลงเอกสารเงินกู้ เพราะบริษัทยึดมั่นการทำงานด้วยความสุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้
ทั้งนี้สภาองค์กรของผู้บริโภคยังคงย้ำจุดยืนในการดำเนินงานให้ความเป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกราย ซึ่งนอกเหนือจากกรณีที่เกิดขึ้นกับว่าที่ร้อยเอกธรรมนัส แก้วบุญส่ง แล้ว ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ยังมีการรับเรื่องจากผู้บริโภคอีกหลายกรณีที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากบริษัทมหาชนดังกล่าว ซึ่งทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้มีการเชิญ ผู้แทนจากผู้บริโภคที่ถูกเอาเปรียบจากเอกสารที่ไม่ตรงกับความจริง และมีผู้แทนจากบมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์เปอเรชั่น มาร่วมตอบข้อซักถาม พร้อมรับปากดำเนินการแก้ไขในส่วนที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอแนะในจุดของความไม่โปร่งใสของขั้นตอนดำเนินงานด้านเอกสาร
นายอิฐบูรณ์ฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตามล่าสุด เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ที่ผ่านมาสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้ยื่นจดหมายถึงสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ กลต.ขอให้กำกับดูแล บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์เปอเรชั่น โดยสภาองค์กรของผู้บริโภคได้แจ้งความเอาผิดไว้กับ สน.ทุ่งสองห้อง โดยมีนายภัทรกร ทีปบุญรัตน์ ซึ่งเป็นตัวแทนของสภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นผู้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษ บริษัท ศรีสวัสดิ์ พาวเวอร์ 2014 จำกัด และผู้ที่เกี่ยวข้องอาจเข้าข่ายกระทำผิดฐานความผิดร่วมกันปลอมเอกสาร หรือใช้เอกสารปลอม ในขณะที่คู่กรณี บมจ. ศรีสวัสดิ์ คอร์เปอเรชั่น ก็ควรน้อมรับคำพิพากษาของศาล ซึ่งจะเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลมากที่สุด