วันนี้ (8 ธันวาคม 2566) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดย กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สิทธิประโยชน์อื่นของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ.2566 สนับสนุนการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และป้องกันองค์กรภาคเอกชนแสวงหาผลประโยชน์จากการให้สิทธิประโยชน์แก่ อสม. โดยกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขการให้สิทธิประโยชน์อื่นสำหรับ อสม. 3 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านการศึกษา หรือการพัฒนาศักยภาพ 2. ด้านสุขภาพ 3.ด้านบริการ สินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุอุปกรณ์ หรือทรัพยากรอื่น
นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดี สบส. กล่าวว่า อสม.เป็นจิตอาสาที่อยู่เคียงข้างดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชนอย่างใกล้ชิด ทั้งในภาวะปกติและยามวิกฤต และยังเป็นกลไกในการขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพภาคประชาชนที่มีความสำคัญเป็นรากฐานที่แข็งแรงของระบบสาธารณสุขไทย
“เพื่อเป็นการสนับสนุน เสริมสร้างกำลังใจให้กับพี่น้อง อสม.ทั่วประเทศ ให้สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ของ อสม. ที่เพิ่มขึ้น สธ.ได้ออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สิทธิประโยชน์อื่นของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน พ.ศ.2566 เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงาน และป้องกันองค์กรภาคเอกชนนำไปอ้างแสวงหาผลประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ของ อสม.” นพ.สุระ กล่าว
อธิบดี สบส. กล่าวว่า สำหรับประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาสิทธิประโยชน์สำหรับ อสม.หรือบุตรโดยชอบธรรมตามกฎหมายไว้ 3 ด้าน ประกอบด้วย
1.ด้านการศึกษา หรือการพัฒนาศักยภาพ โดยองค์กรหรือหน่วยงานที่จะเข้ามาสนับสนุนสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่ อสม. ต้องมีลักษณะเป็นการให้เปล่าที่ไม่มีข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใดๆ ผูกมัด การเสริมสมรรถนะในการปฏิบัติงานหรือพัฒนาศักยภาพโดยต้องไม่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของ อสม.
2.ด้านสุขภาพ องค์กรหรือหน่วยงานให้การประกันภัย โดยมีระยะคุ้มครอง อย่างน้อย 3 เดือนนับตั้งแต่วันลงทะเบียน สิทธิด้านการบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข
และ 3.ด้านบริการ สินค้าอุปโภค บริโภค วัสดุอุปกรณ์ หรือทรัพยากรอื่น จะต้องเป็นการให้โดยไม่มีข้อจำกัดหรือผูกมัด และเป็นสินค้า หรือบริการในราคาที่ต่ำกว่าที่มีการให้บริการทั่วไป
ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับ องค์กรหรือหน่วยงานที่สนใจ หรือมีความประสงค์ให้สิทธิประโยชน์แก่ อสม. สามารถยื่นคำขอไปยัง สบส.ได้ โดยจะมีคณะอนุกรรมการพิจารณากลั่นกรอง สิทธิประโยชน์อื่นสำหรับ อสม. ก่อนเสนอคณะกรรมกลางพิจารณาให้ความเห็นชอบ เมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว สบส.จะทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) ระหว่างองค์กรผู้ให้สิทธิ
“นอกจากนี้ องค์กรผู้ให้สิทธิต้องมีการกำกับ ติดตาม และรายงานผลการดำเนินงานตามโครงการร่วมกับ สบส. ทุก 3 เดือน พร้อมทั้งมีสรุปรายงานผลการดำเนินงานให้คณะอนุกรรมการทราบ ภายในวันที่ 30 กันยายนของทุกปี สำหรับวิธีการรับสิทธิของ อสม.นั้น สามารถรับสิทธิประโยชน์ผ่านบัตรประจำตัว อสม. บัตรสะสมผลงาน หรือผ่านแอพพลิเคชัน สมาร์ท อสม. หรือช่องทางอื่นที่คณะกรรมการกลางกำหนด” นพ.สามารถ กล่าว