เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.2566 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) พร้อมด้วยแพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา (รมว.อว.) นางสาวสุชาดา แทนทรัพย์ เลขานุการ (รมว.อว.) และผู้บริหารของกระทรวง (อว.) ได้ร่วมหารือกับนายมาร์ก กุดดิง (Mr. Mark Gooding) เอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทย และผู้แทนจาก British Council ประเทศไทย ณ ห้องรับรองพระจอมเกล้า สำนักงานปลัด (อว.)
นางสาวศุภมาสฯ กล่าวว่า การหารือครั้งนี้มีประเด็นมุ่งเน้นคือการสร้างความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา ทุนการศึกษาและการวิจัย (อววน.) และการเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสถาบันระหว่างไทยและสหราชอาณาจักรผ่านการศึกษาข้ามพรมแดน (Transnational Education) โดยการพัฒนาหลักสูตรร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยจากทั้งสองประเทศ พร้อมส่งเสริมความเป็นสากลของอุดมศึกษาไทย แต่สำหรับการจัดตั้งวิทยาเขต (Branch campus) ในประเทศไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในรูปแบบการจัดการศึกษาภายใต้การศึกษาข้ามพรมแดนนั้น ยังมีข้อจำกัดบางประการด้านหลักเกณฑ์และระเบียบที่กำหนด ซึ่งหลังจากนี้จะต้องดำเนินการหามาตรฐานสร้างความร่วมมือกันทั้งสองฝ่ายต่อไป
“การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้แก่เยาวชนไทย เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการค้นคว้า หาความรู้มากมายที่มีอยู่ทั่วโลกได้ โดยเฉพาะการจัดการเรียนการสอนที่เรียนรู้จากครูเจ้าของภาษา ผ่านความร่วมมือกับ British Council จะเป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญที่ช่วยพลิกโฉมการศึกษาของประเทศไทยได้” (รมว.อว.) กล่าว
ด้านนายมาร์ก กุดดิง กล่าวว่า สหราชอาณาจักรได้มีการจัดตั้งกองทุน International Science Partnerships Fund (ISPF) ซึ่งเป็นกองทุนของรัฐบาลอังกฤษภายใต้การดำเนินงานของ Department for Science, Research and Technology เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความท้าทายของโลก ภายใต้ 4 หัวข้อหลัก (theme) ได้แก่ (1) Healthy People, Animals & Plants (2) Transformative Technologies (3) Resilient Planet และ (4) Tomorrow’s Talent และมีงบประมาณสนับสนุนสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา (ODA) จำนวนกว่า 200 ล้านปอนด์ ซึ่งมีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยและการสร้างนวัตกรรมของประเทศไทยที่ตอบโจทย์ความท้าทายดังกล่าวผ่านกองทุนที่ตั้งขึ้นใหม่นี้
ทั้งนี้ (รมว.อว.) ได้แสดงความขอบคุณและยินดีสนับสนุนให้หน่วยงานวิจัยและสถาบันอุดมศึกษาไทยมีส่วนร่วมในกองทุน ISPF อย่างเต็มที่เพื่อใช้ประโยชน์จากความร่วมมือบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการพัฒนาประเทศและทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับที่กระทรวง อว. และฝ่ายสหราชอาณาจักรมีแผนที่จะลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือให้เป็นรูปธรรมต่อไป พร้อมกันนี้ เอกอัครราชทูตฯ ยังได้เชิญ (รมว.อว.) เข้าร่วมงาน Launch of ISPF funding in Thailand ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 นี้อีกด้วย