“…วัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. เพื่อติดตามผลการตรวจสอบการส่อทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและผู้ควบคุมงาน โครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กับพวกและขอให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษตามกฎหมายของ ป.ป.ช. ; ชี้ เป็นเงินที่ประชาชนชาวไทยบริจาคด้วยจิตศรัทธาให้โรงพยาบาลและเงินภาษีอากรของประชาชน การใช้วัสดุไม่ตรงสเปคอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้ผู้สูงอายุ ญาติผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต แทบไม่น่าเชื่อว่าการก่อสร้างโรงพยาบาลยังมีการทุจริตใช้วัสดุไม่ตรงตามแบบตามเอกสารที่ร้องเรียน ; ถาม “คุณธรรม จรรยาบรรณ จริยธรรมหายไปไหน”…”
จากกรณีเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยามหิดล มีหนังสือตอบรับต่อ ประธานกรรมการบริษัท เกียรติก้องภพ จำกัด แจ้งผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ผู้สูงอายุระดับชาติ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีปัญหาการดำเนินงานที่ไม่สุจริตตามสัญญา ไม่โปรงใสถูกต้อง ตามข้อกำหนดผู้ควบคุมงานและผู้รับจ้างไม่ดำเนินงานให้ถูกต้องตามสัญญา ไม่จ่ายค่าจ้างผู้รับจ้างช่วง ทำให้โครงการต้องหยุดเป็นช่วงๆ นั้น
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง ระบุในหนังสือดังกล่าวว่า มหาวิทยาลัยได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วปรากฏว่า มีกรณีที่ผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้าง ผู้ควบคุมงานไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้าง การอนุมัติและตรวจรับพัสดุไม่เป็นไปตามระเบียบขั้นตอน รวมถึงมีกรณีเป็นที่สงสัยว่ามีบุคลากรของคณะ และบุคลากรของบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล โพรเจคแอดมินิสเตรชั่น จำกัด มีพฤติการณ์เรียกร้องรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันมิควรได้ เพื่ออำนวยความสะดวกและให้การช่วยเหลือในการดำเนินโครงการ ซึ่งมหาวิทยาลัยจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญา และระเบียบข้อบังคับของมหาวิทยาลัยต่อไป
ต่อมาวันที่ 6 ธันวาคม 2566 นายวัชระ เพชรทอง อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ เดินทางไปที่ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ถ.นนทบุรี ต.ท่าทราย อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียน ต่อ พลตำรวจเอกวัชรพล ประสานราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. และ นายนิวัติไชย เกษมมงคล เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ผ่าน นายธนิต สุวรรณกาศ นักสืบสวนคดีทุจริตชำนาญการพิเศษ สำนักสืบสวนคดีทุจริต เพื่อขอติดตามผลการตรวจสอบการส่อทุจริตในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตรวจรับพัสดุและผู้ควบคุมงาน โครงการก่อสร้างดังกล่าว กับพวกและขอให้ดำเนินการสอบสวนลงโทษตามกฎหมายของ ป.ป.ช.
โดยนายวัชระ ระบุในหนังสือร้องเรียนดังกล่าวว่า บัดนี้ระยะเวลาล่วงเลยมาไม่น้อยกว่า ๗ เดือนนับแต่บริษัท เกียรติก้องภพ จำกัด ได้มีหนังสือร้องเรียนการทุจริตกับสำนักงาน ป.ป.ช. ข้าพเจ้า นายวัชระ เพชรทอง อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับหนังสือร้องเรียนของ นายชูเกียรติ อัจฉริยวงศ์ ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท เกียรติก้องภพ จำกัด ขอให้ติดตามตรวจสอบเรื่องร้องเรียนการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์วิทยาการเวชศาสตร์ฯ กับพวก
การส่อทุจริตของเจ้าหน้าที่ของรัฐกับพวกดังกล่าวเป็นเงินที่ประชาชนชาวไทยบริจาคด้วยจิตศรัทธาให้โรงพยาบาลและเงินภาษีอากรของประชาชน การใช้วัสดุไม่ตรงสเปคอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้ผู้สูงอายุ ญาติผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคต แทบไม่น่าเชื่อว่าการก่อสร้างโรงพยาบาลยังมีการทุจริตใช้วัสดุไม่ตรงตามแบบตามเอกสารที่ร้องเรียน คุณธรรม จรรยาบรรณ จริยธรรมหายไปไหน จึงขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. เร่งดำเนินการไต่สวนตามหลักฐานที่ปรากฏอย่างยุติธรรมและชี้มูลความผิดคณะบุคคลที่ร่วมกันกระทำความผิดโดยเร็วที่สุดเพราะอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบของ ป.ป.ช.
ทั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลโดยศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีหนังสือลงวันที่ 14 กันยายน 2566 ถึงประธานกรรมการ บริษัท เกียรติก้องภพ จำกัด ยอมรับว่ามีกรณีผู้รับจ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างก่อสร้าง และผู้ควบคุมงานไม่ปฏิบัติตามสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างจริง รวมทั้งมีกรณีสงสัยว่ามีบุคลากรของคณะฯ และบุคลากรของบริษัทที่เกี่ยวข้องนั้นมีพฤติการณ์เรียกหรือรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันมิควรได้จริง ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการกันข้าราชการชั้นผู้น้อยที่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการสอบสวนไว้เป็นพยาน.