เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2566 : นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ครั้งที่ 1/2566 ณ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (บึงกาฬ,เลย,หนองคาย,หนองบัวลำภู และอุดรธานี) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เพื่อประชุมมอบนโยบายการทำงานด้านอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) พัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 โดยมีนายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ ปลัด (อว.),พญ.เพชรดาว โต๊ะมีนา ที่ปรึกษา (รมว.อว.),ผู้บริหารกระทรวง (อว.),ผู้บริหารงาน (อว.) ส่วนหน้าและเครือข่ายมหาวิทยาลัยในสังกัดกระทรวง (อว.) เข้าร่วม โดยมี นางคณิตา ราษฎร์นุ้ย รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.คณิศรา ธัญสุนทรสกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ให้การต้อนรับ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
(รมว.อว.) ชมนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงานโครงการของกระทรวง (อว.) เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ เช่น UDRU NEXTs และหลักสูตรการพัฒนาทักษะ upskill–reskill บัณฑิตพันธุ์ใหม่ การผลิตผ้าทอมือย้อมคราม นวัตกรรมยืดอายุการเก็บรักษาเนื้อทุเรียนในบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งออก การบริหารจัดการน้ำชุมชน การนำ BCG โมเดลขับเคลื่อนชุมชนที่มีฐานการผลิตข้าวเหนียวให้มีการสร้างมูลค่าเพิ่มแบบครบวงจร เป็นต้น
จากนั้น (รมว.อว.) ได้ประชุมมอบนโยบายการทำงานด้าน (อววน.) พัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ว่า พื้นที่จังหวัดกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ได้แก่ บึงกาฬ,เลย,หนองคาย,หนองบัวลำภู และอุดรธานี มีศักยภาพ อยู่ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคอีสาน ที่สามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเอื้ออำนวย และกระตุ้นให้เกิดการค้า การลงทุนในพื้นที่ ตลอดจนมีทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี และศาสนา ดังจะเห็นจากเป็นแหล่งมรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานี แหล่งวัฒนธรรมและประเพณี เช่น เทศกาลผีตาโขน เทศกาลบั้งไฟพญานาค จ.หนองคาย งานนมัสการพระธาตุศรีสองรัก งานแสดงไม้ดอกเมืองหนาว จ.เลย เป็นต้น ซึ่งพร้อมที่พัฒนาศักยภาพให้เป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาเยือน เพื่อเป็นการนำรายได้เข้าสู่จังหวัด กระทรวง (อว.) พร้อมให้การสนับสนุน ในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่างๆ ที่ดำเนินการในพื้นที่ของหน่วยงานในสังกัด (อว.) มาบูรณาการการทำงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อต่อยอดและพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้โดดเด่นกว่าเดิม ซึ่งนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทยก็ได้เน้นย้ำผลักดันให้กระทรวง (อว.) เป็นกระทรวงเศรษฐกิจ ดังนั้นการมีส่วนร่วมกับพื้นที่และชุมชนจึงสำคัญ เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาพร้อมกับยกระดับทั้งภาคการท่องเที่ยว ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างรายได้เพื่อสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสู่ประชาชน
“ดีใจที่ได้เห็นความสุขของพี่น้องประชาชนที่มาจากการที่ กระทรวง (อว.) เข้ามาสนับสนุนส่งเสริมการแก้ปัญหาความยากจน สร้างงาน สร้างรายได้ ด้วยการนำ (อววน.) เข้ามาช่วยในการพัฒนาพื้นที่ผ่านหน่วยปฏิบัติการ (อว.) ส่วนหน้า มหาวิทยาลัยและหน่วยงานต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ ซึ่งเป็นนโยบายที่ตนมุ่งเน้นคือหน่วยงานด้านวิจัยและพัฒนาของ (อว.) ต้องร่วมมือกับพื้นที่ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพัฒนาในพื้นที่ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญต้องช่วยยกระดับคุณชีวิตและแก้ปัญหาความยากจนให้ได้ ขณะที่การดูแลนักศึกษาก็เป็นนโยบายสำคัญที่มอบให้มหาวิทยาลัยในพื้นที่นำไปปฏิบัติคือ 1.การยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลาง และให้มีศูนย์หรือระบบดูแลนักศึกษาทั้งร่างกายและจิตใจ และ 2.การพัฒนาหลักสูตร non degree หรือหลักสูตรระยะสั้น เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเรียนถึง 4 ปี” รมว.อว. กล่าว
การลงพื้นที่ติดตามการตรวจราชการ ในครั้งนี้ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) มอบหมายให้ นางสาวเสาวนีย์ มุ่งสุจริตการ เลขานุการกรม นำ คณะนักวิจัย ที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย จาก (วช.) เข้าร่วมจัดนิทรรศการผลการดำเนินงานโครงการของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อแก้ไขความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ (Area-Based & Community) “นวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและส่งเสริมแกร่งให้ชุมชนและผู้ประกอบการ” อาทิ โครงการ “การใช้นวัตกรรมการเกษตรและการบูรณาการ ความร่วมมือทางการตลาดระหว่างประเทศ เพื่อส่งออกผลิตผลทุเรียนของเกษตรกรรายย่อยสู่สาธารณรัฐประชาชนจีน” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และภาคเอกชน ในการสร้างแนวทางการขยายตลาดการส่งออกทุเรียนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีนผ่านระบบโลจิสติกส์ใหม่รถไฟความเร็วสูง
โครงการ “เทคโนโลยีการคัดกรองมวลกระดูกสำหรับโรคกระดูกพรุน ด้วยแสงพลังงานต่ำและปัญญาประดิษฐ์ ร่วมกับศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลศูนย์อุดรธานี” ซึ่งเป็นผลงานวิจัยของโรงพยาบาลแพทย์อุดรธานี เพื่อสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามที่เกิดจากโรคกระดูกพรุนในผู้สูงอายุ โดยนำผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย วัสดุทดแทนกระดูกประเภทไฮดรอกซี่อาปาไทท์ แผ่นดามกระดูกความแข็งแรงสูง มาใช้กับผู้ป่วยสูงอายุที่มีความเสี่ยง พร้อมทั้งจัดกิจกรรมให้ความรู้เกี่ยวกับโรคกระดูกพรุน และตรวจวัดมวลกระดูกให้กับผู้สูงอายุในท้องถิ่นต่างๆ
โครงการ “การพัฒนาและผลิตผลึกสารกึ่งตัวนำสารประกอบ III-V โดยวิธีการปลูกผลึกด้วยลำโมเลกุลและพัฒนาอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำในอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะอุตสาหกรรมการสื่อสารและอุตสาหกรรมการแพทย์”ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกันระหว่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี และภาคเอกชน นับเป็นการสร้างนวัตกรรม
ด้านการแพทย์อย่างต่อเนื่อง และมีคุณภาพทัดเทียมกับนานาชาติ
หลังจากนั้น (รมว.อว.) และคณะผู้บริหาร (อว.) เดินทางไปยัง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี (ศูนย์สามพร้าว) และ บริษัทอุดรมาสเตอร์เทค ตำบลโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี เพื่อตรวจเยี่ยมผลการดำเนินงานโครงการพัฒนาและผลิตผลึกสารกึ่งตัวนำสารประกอบ III-V โดยวิธีการปลูกผลึกด้วยลำโมเลกุลและพัฒนาอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำในอุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะอุตสาหกรรมการสื่อสารและอุตสาหกรรมการแพทย์ และโครงการอาหารแห่งอนาคตและนวัตอัตลักษณ์ เพื่อศึกษาแนวทางการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์สู่เชิงพาณิชย์ ด้วย