ราชกิจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศแต่งตั้ง “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ดำรงตำแหน่ง “องคมนตรี” เพิ่มเติม ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
วันที่29 พ.ย.2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ ประกาศ เรื่อง แต่งตั้งองคมนตรี มีใจความว่า
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศว่า
ตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งองคมนตรีตามประกาศ ลงวันที่ 21 ตุลาคม พุทธศักราช 2565 แล้วนั้น
บัดนี้ ทรงพระราชดำริเห็นเป็นการสมควรแต่งตั้งองคมนตรีเพิ่มขึ้น
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 และมาตรา 11 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น องคมนตรี
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 29 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2566 เป็นปีที่ 8 ในรัชกาลปัจจุบัน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” จากนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย ก่อนได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี
จากกรณี ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี เราจะพาย้อนดูเส้นทางของ พล.อ.ประยุทธ์ ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 29 ของประเทศไทย จนถึงวันที่ได้รับโปรดเกล้าแต่งตั้งเป็นองคมนตรี
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ชื่อเล่น “ตู่” เกิดเมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2497 จ.นครราชสีมา สมรสกับ รองศาสตราจารย์นราพร จันทร์โอชา อาจารย์ประจำสถาบันภาษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีบุตรสาวฝาแฝด 2 คน คือ น.ส.ธัญญา จันทร์โอชา และ น.ส.นิฏฐา จันทร์โอชา
การศึกษา
พ.ศ. 2514 – โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12
พ.ศ. 2519 – โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23
พ.ศ. 2519 – หลักสูตรชั้นนายร้อย รุ่นที่ 51
พ.ศ. 2524 – หลักสูตรชั้นนายพัน รุ่นที่ 34
พ.ศ. 2528 – หลักสูตรหลักประจำโรงเรียนเสนาธิการทหารบก ชุดที่ 63
พ.ศ. 2550 – หลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรภาครัฐร่วมเอกชน รุ่นที่ 20
ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2533 – ผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 พัน 2 รอ.)
พ.ศ. 2541 – ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ (ผบ.ร.21 รอ.)
พ.ศ. 2546 – ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ (ผบ.พล. ร 2 รอ.)
พ.ศ. 2549 – แม่ทัพภาคที่ 1 (มทภ. 1 )
พ.ศ. 2551 – เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.)
พ.ศ. 2552 – รองผู้บัญชาการทหารบก (รอง ผบ.ทบ.)
พ.ศ. 2553 – ผู้บัญชาการการทหารบก (ผบ.ทบ.)
พ.ศ. 2557 – หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ถึงวันที่ 16 กรกฎาคม 2562)
ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายทหารพิเศษฯ ประจำหน่วย
พ.ศ. – 2545 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์
พ.ศ. – 2547 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
พ.ศ. – 2549 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ฯ
พ.ศ. – 2554 นายทหารพิเศษประจำ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ฯ
รางวัลทางสังคม
พ.ศ. 2548 – ได้รับรางวัลคนดีสังคมไทย สาขาส่งเสริมและพัฒนาความมั่นคงของชาติ
พ.ศ. 2549 – รางวัลเกียรติยศจักรดาว สาขาการทหาร
พ.ศ. 2553 – รางวัลมหิดลวรานุสรณ์ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์
พ.ศ. 2554 – ได้รับการลงคะแนนให้เป็นอันดับ 1 สุดยอดซีอีโอของภาคราชการและเจ้าหน้าที่รัฐแห่งปี 2554
จากผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์
ขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ( ผบ.ทบ.) วันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ตัดสินใจเข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการ (ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ในขณะนั้น จากกรณีการชุมนุมของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในขณะนั้น ก่อนที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือ คสช. ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2562
และเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน ภายหลังการประชุมร่วมรัฐสภา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการสนับสนุนจากเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกรัฐสภาเหนือนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ถือเป็นนายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 29 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กระทั่งมีการยุบสภาในวันที่ 20 มีนาคม 2566 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 45 วันแต่ไม่เกิน 60 วันหลังจากยุบสภา โดย กกต.ได้กำหนดวันเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยระหว่างนั้นพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรักษาการ จนถึงวันที่ 5 กันยายน 2566
หลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เริ่มถอยห่างจากแวดวงการเมือง เริ่มตั้งแต่การประกาศขอวางมือทางการเมือง และลาออกจากพรรครวมไทยสร้างชาติ ภายหลังการเลือกตั้งจบลง และหลังจากพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เงียบหายไปจากหน้าสื่อ
กระทั่งล่าสุด ได้มีประกาศโปรดเกล้าฯ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี