เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (ผอ.วช.) มอบหมายให้ นายธีรวัฒน์ บุญสม ผู้อำนวยการกองส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม นำคณะผู้ทรงคุณวุฒิ ประกอบด้วย รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์,นายธานินทร์ ผะเอม,นายสุพจน์ อาวาส และนายสุพจน์ กรประสิทธิ์วัฒน์ พร้อมด้วย ผู้แทนคณะกรรมาธิการฯ นายกัณฑ์อเนก เกตุแก้ว และนายจักรกฤษ สุขคง และคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อติดตามผลสำเร็จของโครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟเขาหัวช้าง สี่ขีดสู่ตลาดกาแฟคุณภาพ” ที่ (วช.) ให้ทุนสนับสนุน โดยมี ผศ.ดร.สุดนัย เครือหลี หัวหน้าโครงการฯ
ซึ่ง นายศุภเกียรติ เพชรเศรษฐ์ ปลัดอำเภอรักษาราชการแทนนายอำเภอสิชล นายกิตติ์ณพงศ์ วงศ์เลี้ยง เกษตรอำเภอสิชล นายพีรพล จันทรักษ์ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฅนทำกาแฟสิชล นางสาวอุมาภรณ์ ศรีฟ้า เกษตรกรเจ้าของไร่ศรีฟ้า และผู้ประกอบการในพื้นที่ ให้การต้อนรับ ณ สำนักงานเกษตรอำเภอสิชล และ
ไร่ศรีฟ้า อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ (วช.) กล่าวว่า จากการดำเนินงานของงานวิจัยจะเห็นได้ว่า ผลงานวิจัยจะนำไปสู่การช่วยแก้ไขปัญหาของชุมชนและพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผลักดันให้กาแฟเขาหัวช้างซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ให้เป็นที่รู้จัก รวมถึงการนำองค์ความรู้ไปต่อยอดสนับสนุนในภาคกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์เมล็ดกาแฟเขาหัวช้าง สู่การสร้างอัตลักษณ์ของชุมชนแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และส่งผลให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ นับเป็นโครงการที่ตอบโจทย์การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างชัดเจน สร้างความร่วมมือความสามัคคีของคนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี
ผศ.ดร.สุดนัย เครือหลี หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า จากการดำเนินงาน โครงการวิจัย เรื่อง “การพัฒนาและยกระดับกระบวนการผลิตเมล็ดกาแฟเขาหัวช้าง สี่ขีดสู่ตลาดกาแฟคุณภาพ” จะเห็นได้ว่า กาแฟเขาหัวช้าง สี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นกาแฟที่มีการปลูกกันมาอย่างช้านาน กาแฟที่ปลูกเป็นกาแฟพันธุ์โรบัสต้าที่นำต้นพันธุ์มาจากอําเภอสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา เดิมกาแฟโรบัสต้าสี่ขีดได้รับอย่างนิยมอย่างแพร่หลาย ส่งผลให้มีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างกว้างขวางทั่วอำเภอสิชล ต่อมาเมื่อราคากาแฟตกต่ำประกอบกับพืชชนิดอื่น เช่น ยางพารา ทุเรียน มีราคาสูงกว่า เกษตรกรจึงมีการเปลี่ยนจากการปลูกกาแฟไปปลูกยางพาราและทุเรียนเป็นจำนวนมาก สำหรับเกษตรกรที่ยังปลูกกาแฟในปัจจุบันประสบปัญหาผลผลิตไม่สม่ำเสมอ ส่งผลกระทบต่อรายได้ นำไปสู่การพัฒนากาแฟเขาหัวช้างของตำบลสี่ขีด ให้ได้มาตรฐานรองรับเป็นกาแฟที่มีคุณภาพ และมีอัตลักษณ์เฉพาะของพื้นที่ ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตให้กับเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลผลิตกาแฟที่เป็นเอกลักษณ์ประจำถิ่น ซึ่งได้ดำเนินการจัดทำแปลงสาธิตเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการแปลงปลูกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตกาแฟ รวมถึงจัดการอบรมเกษตรกรเรื่องการคัดเมล็ดกาแฟ พัฒนากลุ่มวิสาหกิจให้มีความเข้มแข็งโดยใช้การมีส่วนร่วมของสมาชิกในกลุ่ม และการสร้างความรับรู้ สร้างช่องทางการจำหน่ายกาแฟเขาหัวช้าง สี่ขีด ผ่านช่องทางออฟไลน์การออกบูธงานแสดงสินค้าในงานต่างๆ และช่องทางออนไลน์การลงโฆษณาผ่านช่องทาง FACEBOOK ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้ากาแฟได้มากขึ้น สอดคล้องกับแนวทางการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ชุมชนเข้มแข็งอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์กาแฟเขาหัวช้างสิชล จะนำไปสู่
การสร้าง Soft Power ให้กับพื้นที่และจะเป็นต้นแบบการผลิตกาแฟ ผลิตภัณฑ์ของชุมชนตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราชที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ชุมชนรวมถึงไร่กาแฟในพื้นที่อื่นๆ ผลักดันให้กาแฟไทยเป็นที่รู้จักและเข้าไปอยู่ในใจคนรักกาแฟได้มากยิ่งขึ้น และหากท่านใดสนใจสามารถสั่งซื้อกาแฟฝีมือคนไทย หรือติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่ Facebook Page: Sichon Robusta