ในเวทีการเสวนาโครงการเส้นทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองราดพ่อขุนผาเมือง ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 26 พฤศจิกายน 2566 ณ อนุสรณ์สถานเมืองราดพ่อขุนผาตำบลบ้านหวาย อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ดร.วิศัลย์ โฆษิิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้กล่าวถึงการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ว่า ก่อนการเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ากว่า 2.5 ล้านคน ในช่วงการเกิดโควิดทำให้นักท่องเที่ยวซบเซา จนเมื่อสถานการณ์กลับสู่ภาวะปกติ นักท่องเที่ยวทยอยเดินทางกลับมาท่องเที่ยวกันใหม่และคาดการณ์ว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวจะขยับกลับมาแตะอยู่ที่ 3 ล้านคน หมุดหมายที่สำคัญคือการท่องเที่ยวในช่วงหน้าหนาว ในพื้นที่เขาค้อ ทับเบิกและน้ำหนาว ซึ่งจังหวัดเพชรบูรณ์มีความต้องการที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยวในทุกช่วงฤดูกาล จึงมองหาแหล่งท่องเที่ยวอื่นที่มีศักยภาพเพื่อทำให้คนมาเที่ยวเพชรบูรณ์ได้ทั้งปี ดังนั้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมน่าจะเป็นจุดที่จะดึงดูดให้คนมาจังหวัดเพชรบูรณ์เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกระแสของนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวศรีเทพ มรดกโลกเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์มีความตื่นตัวกันมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อทำให้คนมาเที่ยวเพชรบูรณ์ได้สัมผัสความงดงามของวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ทางสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งตนเองเป็นประธาน มองเห็นศักยภาพของพื้นที่ซึ่งจะสามารถเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวให้เข้ามาเที่ยวชม ซึ่งก็คือเส้นทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเมืองราดพ่อขุนผาเมือง ตำบลบ้านหวาย อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์
ทั้งนี้ตำบลบ้านหวาย เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์เมืองราด พ่อขุนผาเมือง นับเป็นต้นกำเนิดแห่งประวัติศาสตร์ชาติไทย มีพ่อขุนผาเมือง วีระกษัตริย์นอกประวัติศาสตร์ ผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งอาณาจักรสุโขทัยเป็นราชธานี แห่งแรกของชาติไทย ตำบลบ้านหวายจึง มีความเจริญรุ่งเรืองมาก แต่เดิมผู้คนสืบทอดวัฒนธรรมอันดีมายาวนานเช่น ศิลปวัฒนธรรมที่บรรพบุรุษสร้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโบราณสถานหลาย ๆแห่ง ที่แสดงให้เห็นถึงอารยธรรมที่เป็นอัตลักษณ์ของท้องถิ่นที่ควรค่าแก่การธำรงรักษาไว้ให้สืบทอดสู่อนุชนหลัง อาทิ เจดีย์พ่อขุนผาเมือง เจดีย์พระนางสิงขรเทวี หลวงพ่อตากแดด หลวงพ่อใหญ่ พระเจ้าองค์ตื้อ อนุสรณ์สถานเมืองราดพ่อ ขุนผาเมือง ศาลาข้าวสารดำ รวมถึงศิลปวัฒนธรรมที่เป็นวิถีชีวิตความเป็นอยู่ อันเกิดจากการเรียนรู้โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมการแต่งกาย ชาวบ้านหวาย แต่เดิมมีอัตลักษณ์ด้านการแต่งกาย ที่แสดงถึงตัวตน สะท้อนวิถีชีวิต ทั้งการแต่งกายของหญิงและชาย ผ้าซิ่นหัวแดงตีนก่าน ซึ่งยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
จากอารยธรรมพื้นถิ่น สภาวัฒนธรรมตำบลบ้านหวาย องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านหวาย เล็งเห็นถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูและส่งเสริมจารีตประเพณีศิลปวัฒนธรรมอันดีและทรงคุณค่าของท้องถิ่นให้คงอยู่ จึงมีการส่งเสริมศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตำบลบ้านหวาย เพื่อสร้างการตระหนักรู้ในคุณค่าของอารยธรรมแก่ชาวบ้าน และส่งเสริมให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วมที่จะเป็นองคาพยพในขับเคลื่อนการอนุรักษ์ฟื้นฟูและธำรงรักษาไว้ซึ่งศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา รวมทั้งเปิดเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทหล่มบ้านหวายและประวัติศาสตร์เมืองราดพ่อขุนผาเมือง 9 จุด เช่น อนุสรณ์สถานเมืองราด เจดีย์พระนางสิงขรมหาเทวี เจดีย์พ่อขุนผาเมืองและต้นจำปาพันปี สัมผัสวิถีชีวิตความเป็นอยู่คนไทหล่ม อาหารพื้นถิ่น หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน การแต่งกาย ซิ่นหัวแดงตีนก่าน หรือ ซิ่นหมี่คั้นน้อย ของกลุ่มทอผ้าพื้นเมืองไทหล่มบ้านหวาย และประเพณีและการละเล่นดั้งเดิม เช่น การเส็งกลอง การฟ้อนแขบลาน แมงตับเต่า(ลิเกลาว) ประเพณีตักบาตรเทโวโรหณะ ประเพณีการจ้ำดอกเผิ้ง แห่ปราสาทผึ้ง สรงน้ำพระธาตุฯ บุญบั้งไฟ กวนข้าวทิพย์ และการแต่งกายไทหล่มที่เป็นเอกลักษณ์ ผู้ชายนุ่งกางเกงขายาวหรือครึ่งแข้งหรือนุ่งโสร่ง มีผ้าขาวม้าคาดพุงหรือพาดไหล่ หรือ โพกศีรษะ ส่วนผู้หญิงนุ่งผ้าซิ่นทอเองด้วยไหมหรือฝ้าย เรียกว่าซิ่นหมี่ บางคนจะนุ่งซิ่นมุก มีสีสันสวยงาม มีหัวซิ่นและตีนซิ่นที่ทอพิเศษและสวยงามบ่งบอกถึงตัวตน และวิถีชีวิตความเป็นอยู่
โดยในเวทีเสวนาได้มีวิทยากรในท้องถิ่นมาร่วมพูดคุยนำเสนอจุดเด่นและของดีในชุมชน เช่น นายวีระ ธูปทอง ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ : การดำเนินการและมาตรฐานโฮมสเตย์ในชุมชน ร.ต.ศิริ กินยืน นายก อบต.บ้านหวาย :นโยบายการบริหารท้องถิ่นด้านวัฒนธรรมประเพณีและการท่องเที่ยว พ.ต.อ.จิรภัทร ปานลักษณ์ ผกก.สอบสวน กลุ่มงานสอบสวน ตำรวจภูธร จ.เพชรบูรณ์ :ความสำคัญขององค์เจดีย์พ่อขุนผาเมือง ผศ.สุรีย์รัตน์ หาญคำ :ชุมชนโบราณบ้านหวาย ห้วยโปร่ง ในทางประวัติศาสตร์ นางสาวมนต์นภา ก้อนดี เลขานุการสภาวัฒนธรรรมตำบลบ้านหวาย :วิถีการกินอยู่ของชุมชนบ้านหวายและมีนายศุภชัย เทียมทอง ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านหวาย เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งหลังเสร็จสิ้นการเสวนาได้มีกิจกรรมการเดินแบบผ้าท้อพื้นถิ่นไทหล่ม บ้านหวาย การแสดงดนตรีโปงลาง จากโรงเรียนหล่มเก่าพิทยาคม การแสดงขับร้องสรภัญญ์โบราณแมงตับเต่า การแสดงจากคณะครูโรงเรียนผู้สูงอายุลูกพ่อขุนตำบลบ้านหวาย และรับประทานอาหารฟื้นถิ่นไทหล่มบ้านหวายร่วมกัน โดยมีผู้ร่วมงานกว่า 200 คน สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้ามาเที่ยวชมเส้นทางท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทหล่มบ้านหวายและประวัติศาสตร์เมืองราดพ่อขุนผาเมือง สามารถติดต่อนำเที่ยวได้ที่ อบต.บ้านหวาย 056-704-594 และท่านประธานสภาวัฒนธรรมตำบลบ้านหวาย 081-751-9109