ทีมนักวิจัยแคนาดาตรวจสอบสระว่ายน้ำหลายแห่ง พบมีปริมาณปัสสาวะปะปนอยู่ในระดับที่สูงจนน่าตกใจ ชี้เป็นอันตรายอย่างมาก ทั้งระคายเคืองตา ไปจนถึงหอบหืด
คงมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ชื่นชอบว่ายน้ำเป็นชีวิตจิตใจ เพราะนอกจากจะได้ออกกำลังกายแล้ว ยังได้ความสนุกสนานอีกด้วย ด้วยความที่สระว่ายน้ำคือพื้นที่สาธารณะที่มีผู้คนมาใช้บริการมากมาย สิ่งที่ทุกคนแอบกังวลและเคยคิดตั้งคำถามอยู่ในใจคงหนีไม่พ้นเรื่อง “ปัสสาวะ” สงสัยว่าน้ำในสระจะมีปัสสาวะปะปนอยู่มากขนาดไหนกัน นักวิจัยชาวแคนาดาก็สงสัยในเรื่องนี้เช่นกัน พวกเขาจึงได้ทำการสำรวจอย่างจริงจัง และค้นพบคำตอบที่ชวนสะพรึง เพราะปริมาณปัสสาวะที่ปะปนอยู่ในสระว่ายน้ำนั้น มีมากกว่าที่ทุกคนคิด !
จากการรายงานของสำนักข่าวดิอินดิเพนเดนท์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2560 ระบุว่า ทีมนักวิจัยจากสถาบันพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคุณภาพน้ำในสระว่ายน้ำ โดยได้เก็บตัวอย่างน้ำจำนวน 250 ตัวอย่าง จากสระว่ายน้ำและบ่อน้ำร้อนต่าง ๆ จำนวน 31 แห่งด้วยกัน เมื่อนำน้ำเหล่านั้นมาทำการทดสอบก็ได้ผลลัพธ์ที่น่ากังวลใจอย่างมาก
ทีมนักวิจัยตรวจสอบปริมาณปัสสาวะที่ปะปนอยู่ในน้ำ โดยการตรวจหาจากสารเอซีซัลเฟมเค หรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลสารชนิดนี้สามารถพบได้อยู่ทั่วไปในอาหารต่าง ๆ เช่น ขนมหวาน กาแฟ เครื่องดื่มน้ำอัดลมประเภทไร้น้ำตาล ฯลฯ เมื่อบริโภคเข้าไปแล้วมันจะไม่ผ่านการย่อยสลายและจะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะ
หนึ่งในตัวสระที่ทำการทดสอบคือ สระว่ายน้ำขนาดใหญ่แห่งหนึ่งซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าสระโอลิมปิกราว 3 เท่า สระแห่งนี้มีความจุน้ำ 830,000 ลิตร หรือ 220,000 แกลลอน จากการทดสอบตัวอย่างน้ำพบว่า มีปริมาณปัสสาวะเจือปนอยู่ในสระแห่งนี้มากถึง 75 ลิตรด้วยกัน ในขณะที่สระอื่น ๆ ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า มีปริมาณปัสสาวะปะปนอยู่ในสระราว 30 ลิตร
ผลการวิจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าน้ำในสระว่ายน้ำเหล่านั้นอยู่ในระดับที่ส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ ปัสสาวะของมนุษย์มีสารต่าง ๆ มากมาย ได้แก่ ยูเรีย แอมโมเนีย กรดอะมิโน และครีเอตินิน สารเหล่านี้จะไปทำปฏิกิริยากับสารเคมีที่อยู่ในสระ ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งก่อให้เกิดความระคายเคืองต่อเยื่อบุตา ผิวหนัง ไปจนถึงก่อให้เกิดอาการภูมิแพ้ เช่น หอบหืด ได้อีกด้วย
โฆษกของสถาบันพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ทีมนักวิจัยจะเร่งขยายผลการวิจัยให้ชัดเจนและครอบคลุมมากขึ้นกว่าเดิม และสระว่ายน้ำแห่งใดที่ไม่ผ่านมาตรฐานสุขอนามัยของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องถูกปิดปรับปรุง จนกว่าจะสามารถรักษาคุณภาพได้ตามมาตรฐานความปลอดภัย