ศูนย์ข่าวภาคกลาง หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ รายงานข่าวว่า
เมื่อวันที่ 15 พ.ย.66 ตามที่มีการเสนอข่าว “ชาวลพบุรีเดือดร้อนหนัก! “อีกัวน่าเขียว” บุกกัดกินพืชผลเสียหาย แถมขยายพันธุ์เพิ่มเพียบ” นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี สั่งการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ หมู่ที่ 3 ต.พัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ซึ่งจากลงพื้นที่พบอีกัวนาหลายตัวอาศัยใกล้ชิดกับชุมชน ทั้งอยู่ในน้ำ อยู่ตามพุ่มไม้ ต้นไม้ บางตัวกัดกินพืชผลของชาวบ้าน บางตัวมีสีเขียว ซึ่งสีเขียวสามารถพบได้ทั้งเพศผู้และเพศเมีย ส่วนสีเหลือง น้ำตาล ตัดสีดำ ส่วนใหญ่เจอในเพศผู้ จากการลงพื้นที่สำรวจครั้งนี้มีหลายตัวมีขนาดเล็กตั้งแต่ 10-20 ซม. ซึ่งคาดว่าเป็นรุ่นลูกที่มีขยายพันธุ์ออกมา จนถึงรุ่นพ่อรุ่นแม่ความยาวประมาณ 30-40 ซม.
ทางด้านนายกฤติน หลิมตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลพบุรี รวมทั้งคณะทำงานของ นายสัตวแพทย์ จรูญ ชูเกียรติวัฒนา ปศุสัตว์จังหวัดลพบุรี ได้ลงพื้นที่หาข้อมูลและออกสำรวจจำนวนอีกัวน่า เพิ่มเติมที่แพร่พันธุ์อยู่ในพื้นที่ใน 2 ตำบล คือตำบลดีลัง และ ตำบลพัฒนานิคม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี โดยได้ใช้กำลังจากเทศบาลตำบลเขาพระยาเดินธงร่วม 100 นาย ออกสำรวจประชากรของอีกัวน่าในพื้นที่ พบอีกัวน่า ชนิดอีกัวน่าเขียว (Iguana iguana) บนต้นไม้ และริมลำห้วย ขนาดต่าง ๆ กัน จำนวน 6 ตัว สอบถามทราบว่า ถูกนำมาปล่อย ตั้งแต่ประมาณปี 2542 และขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว กินพืชผลเกษตรของชาวบ้าน ปกติเป็นสัตว์ที่ไม่ดุร้าย กรณีชาย อายุ 72 ปี ถูกอีกัวน่ากัด เกิดขึ้นเมื่อประมาณสองปีมาแล้ว โดยไปจับอีกัวน่ามาเล่น และถูกกัดที่นิ้ว เป็นแผลเย็บ 7 เข็ม
สำหรับอีกัวน่าทุกชนิดในสกุล Iguana เป็นสัตว์ป่าควบคุม ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 กลุ่มที่ 1 ลำดับที่ 690 ,เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น รายการที่ 3 ชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประวัติรุกรานแล้วในประเทศอื่น แต่ยังไม่รุกรานในประเทศไทย และเป็นสัตว์อื่น ตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ลำดับที่ 40 เป็นพาหะของเชื้อสกุลแซลโมเนลลา ซึ่งก่อให้เกิดโรคอุจจาระร่วงในคน กองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามอนุสัญญา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้เข้ามาทำการศึกษาสถานการณ์ ของอีกัวน่าเขียวที่เขาพระยาเดินธง เมื่อปี 2565 สำรวจพบ จำนวน 23 ตัว
ทั้งนี้ จะได้ทำการประสาน กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เข้ามาสำรวจประชากร กำหนดมาตรการ ตลอดจนแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรุกรานของอีกัวน่า และประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ ทำความเข้าใจ เรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นดังกล่าวกับประชาชนในพื้นที่ ทราบต่อไป
นันท์นภัส วงศ์ใหญ่
ผู้อำนวยการศูนย์ข่าวภาคกลาง หนังสือพิมพ์ 5 เหล่าทัพ