วันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 : พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. ได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่อาจได้รับความเสียหายจากอาชญากรรมรูปแบบต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเสียหายจากการหลอกลวงบนสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งการหลอกลวงรูปแบบหนึ่งที่พบมากที่สุด และมีจำนวนผู้ได้รับความเสียหายมากที่สุด ก็คือการหลอกขายของออนไลน์ หรือซื้อของไม่ได้ของ โดยจากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 จนถึงปัจจุบัน พบว่ามีผู้เสียหายจำนวนกว่า 140,000 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งบัญชีเฟซบุ๊กปลอมถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่คนร้ายมักจะใช้ในการกระทำความผิด
สำนักงานตำรวจแห่งชาติจึงขอแนะนำเทคนิคในการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กปลอม หลอกขายของออนไลน์ ที่คนร้ายจะสร้างความน่าเชื่อถือโดยการเลียนแบบเพจที่มีอยู่จริง นำภาพ หรือข้อความของเพจต่างๆ มาใช้ และมีการสร้างเลขจำนวนผู้ติดตามปลอมเพื่อหลอกผู้เสียหาย โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอแนะนำเทคนิคในการตรวจสอบว่าเพจใดเป็นเพจที่แท้จริง ดังนี้
1.การตรวจสอบจำนวนผู้ติดตามที่แท้จริง : หากเป็นเพจจริง มักจะมียอดผู้ติดตาม เป็นจำนวนมาก ส่วนเพจปลอมมักจะมีการเขียนจำนวนผู้ติดตามขึ้นเองให้เท่ากับเพจจริง โดยหากใช้เฟซบุ๊กผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ จะสามารถตรวจสอบจำนวนผู้ติดตามได้บนหน้าเพจ จำนวนผู้ติดตามที่แท้จริงจะต้องเป็นตัวหน้าสีดำเข้มเท่านั้น และอยู่ติดกับชื่อเพจ,หากใช้เฟซบุ๊กผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) บนคอมพิวเตอร์ จะสามารถตรวจสอบจำนวนผู้ติดตามได้บนหน้าเพจ โดยจำนวนผู้ติดตามที่แท้จริงจะอยู่ติดกับชื่อเพจเท่านั้น อย่าเชื่อจำนวนผู้ติดตามที่ปรากฏในหน้าการค้นหา เพราะจะตรวจสอบได้ยากว่าเป็นจำนวนผู้ติดตามจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงคำอธิบายที่คนร้ายเขียนขึ้นเอง
2.การตรวจสอบข้อมูลพื้นฐานของเพจ : ดูจากชื่อของเพจ วันที่สร้างเพจ และ URL ของเพจ โดยหากใช้เฟซบุ๊กผ่านแอปพลิเคชันบนโทรศัพท์มือถือ จะสามารถตรวจสอบได้โดยการเข้าไปที่หน้าเพจ จากนั้นกดที่สัญลักษณ์ จุดสามจุด “…” ใต้ชื่อเพจ และเมนูดูข้อมูล “เกี่ยวกับ”,หากใช้เฟซบุ๊กผ่านเว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) บนคอมพิวเตอร์ จะสามารถตรวจสอบ URL ได้ที่ Address Bar ด้านบน ส่วนข้อมูลพื้นฐานอื่นๆ จะต้องเข้าไปที่ “เกี่ยวกับ>ความโปร่งใสของเพจ>ดูทั้งหมด”
3.การตรวจสอบจาก Blue Badge หรือเครื่องหมายถูกสีน้ำเงิน ที่อยู่ติดกับชื่อของเพจ ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ระบุว่าเพจดังกล่าวได้รับการตรวจสอบจากเฟซบุ๊กแล้วว่าเป็นเพจจริง
หากพี่น้องประชาชนทำการตรวจสอบเพจเฟซบุ๊กตามวิธีดังกล่าว ก็จะสามารถวางใจได้ในระดับหนึ่งว่าเพจที่ท่านติดต่อซื้อสินค้านั้นน่าจะเป็นเพจจริง และจะไม่ตกเป็นเหยื่อของการซื้อของไม่ได้ของ ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ทั้งนี้ หากพี่น้องประชาชนได้รับความเสียหายจากการหลอกขายสินค้าออนไลน์ และคดีอาญากรรมทางเทคโนโลยีอื่นๆ สามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ศูนย์รับแจ้งความออนไลน์ เว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com หรือสายด่วน 1441 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง