ประวัติ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย หรือ บิ๊กจุ๋ม อดีตรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ถูกให้ออกจากราชการ ฐานประพฤติชั่วร้ายแรง กับเส้นทางชีวิตโลดโผนในวงการสีกากีจนเกือบนั่งตำแหน่งสูงสุดในวงการตำรวจ และข่าวลือประหลาดก่อนถูกปลด
เป็นข่าวสะเทือนวงการสีกากีไม่น้อย หลังมีประกาศจากสำนักพระราชวังให้ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ตำแหน่งรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ออกจากราชการฐานประพฤติชั่วร้ายแรง ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย ทำให้ชื่อของ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย หรือ บิ๊กจุ๋ม กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เนื่องจากเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่ทำงานใกล้ชิดกับเบื้องสูงมากที่สุด
สำหรับประวัติ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย เกิดวันที่ 23 กันยายน 2493 ปัจจุบันอายุ 66 ปี เป็นชาว จ.ลำปาง เป็นบุตรชายของ พล.ต.ท. จุฑา และ นางขวัญใจ มั่นหมาย
ด้านการศึกษานั้น พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย จบการศึกษาระดับชั้นมัธยมจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่นที่ 82, โรงเรียนตำรวจนครบาลรุ่น 34, โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน รุ่นที่ 26 ซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.ต.อ. พิชิต ควรเดชะคุปต์ กรรมการคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) นอกจากนี้ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ยังศึกษาเพิ่มเติม สาขาพัฒนบริหารศาสตรมหาบัณฑิต สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า), หลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูง รุ่นที่ 15, วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร รุ่นที่ 4212
สำหรับเส้นทางในวงการตำรวจของ บิ๊กจุ๋ม เริ่มจากรับราชการจากการเป็นตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) ที่ อ.อรัญประเทศ ก่อนที่จะย้ายเข้าสู่พื้นที่นครบาล ในตำแหน่ง สารวัตรปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ (สวป.สน.บางซื่อ) และได้ย้ายไปอยู่กองปราบปราม ก่อนจะได้รับตำแหน่งรองผู้บัญชาการกองปราบปราม (ผบก.ป.)
โดยหลังจาก บิ๊กจุ๋ม จุมพล มั่นหมาย ได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจตรี (พล.ต.ต.) ก็ได้เลื่อนจากผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนนทบุรี เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 1 (ผช.ผบช.ภ.1) และได้รับพระราชทานยศ พลตำรวจโท (พล.ต.ท.) ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคที่ 3 (ผบช.ภ.3) ก่อนที่จะย้ายมารับตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล
และสิ่งที่ทำให้ บิ๊กจุ๋ม จุมพล มั่นหมาย มีโอกาสใกล้ชิดกับการเมืองมากขึ้น คือการเข้ามานั่งเก้าอี้ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ทำหน้าที่ดูแลเรื่องข่าวสาร และก้าวขึ้นมาเป็นผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ คนที่ 12 (ปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 21 กันยายน 2549 ตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค.) และในเวลาต่อมาได้เข้ามารับตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหาร 11), ที่ปรึกษา (สบ 10) (ทำหน้าที่หัวหน้าที่ปรึกษาด้านความมั่นคง) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ ได้รับตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย มีผลงานสำคัญ ๆ มากมาย อาทิ คดีเพชรซาอุฯ, คดีฆ่า 2 แม่ลูกครอบครัวศรีธนะขันฑ์, คดีสังหารนายแสงชัย สุนทรวัฒน์ ผู้อำนวยการองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อสมท) เป็นต้น
นอกจากนี้ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ยังถูกจับตามองเรื่องที่จะขึ้นสู่การเป็น ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ต่อจาก พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ซึ่งขณะนั้นได้มีตัวเต็งอีกคนคือ พล.ต.อ. ปทีป ตันประเสริฐ ซึ่ง พล.ต.อ. จุมพล ก็ได้รับการสนับสนุนจาก นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่มของนายเนวิน ชิดชอบ แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ กลับเสนอชื่อให้ พล.ต.อ. ปทีป ขึ้นเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แต่กลับไม่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทำให้มีการแต่งตั้ง พล.ต.อ. ปทีป เป็นรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จวบจน พล.ต.อ. ปทีป และ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย เกษียณอายุราชการในปี 2553
ต่อมาในปี 2554 พล.ต.อ. จุมพล ได้กลับเข้าเป็นราชการพลเรือนอีกครั้ง หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประจำสำนักพระราชวังพิเศษ ตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ก่อนจะได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพระราชวังฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2559
จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2560 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้แจ้งดำเนินคดีกับ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ในคดีสร้างบ้านรุกป่าเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ที่ดินแปลงดังกล่าว พล.ต.ต. พงษ์เดช พรหมมิจิตร และ นางชญานิศฐ์ พิศิษฐวานิช (พรหมมิจิตร) เป็นผู้มอบให้ พล.ต.อ. จุมพล ซึ่งขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของพนักงานสอบสวน สภ.วังน้ำเขียว
และล่าสุด (28 กุมภาพันธ์ 2560) ก็ได้มีประกาศจากสำนักพระราชวังให้ พล.ต.อ. จุมพล มั่นหมาย ออกจากราชการ เนื่องจากได้กระทำผิดวินัยฐานกระทำการอันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ราชการไปในทางที่ไม่ถูกต้อง แสวงหาประโยชน์ให้กับตัวเอง ฝักใฝ่ในเรื่องการเมืองเป็นอันตรายต่อความมั่นคง ไม่เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย พฤติกรรมดังกล่าว จึงเป็นความผิดวินัยร้ายแรง สมควรรับโทษไล่ออกจากราชการ
Cr: Kapook