องค์การอนามัยโลกจัดทำลิสต์แบคทีเรียดื้อยา 12 ชนิดตามลำดับความด่วนที่สุดถึงระดับกลาง ชี้เป้าให้อุตสาหกรรมยาและรัฐบาลเร่งวิจัย
แบคทีเรียดื้อยา หรือซูเปอร์บัก เป็นปัญหาใหญ่ที่พบในทุกประเทศ เป็นสาเหตุการตาย 7 แสนรายในแต่ละปี และหากไม่ลงมือยับยั้งแต่บัดนี้ เชื้อดื้อยาอาจทำคนตายปีละ 10 ล้านทั่วโลกภายในปี ค.ศ. 2050 แต่น่ากลัวที่สุดของวิกฤติอันเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อนี้ก็คือ บริษัทยาไม่ได้สนใจเร่งรีบวิจัยและพัฒนายาใหม่อย่างสอดรับกับภัยคุกคามที่โลกจะต้องเผชิญเท่าที่ควร ด้วยเหตุผลหลักว่า เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่ากับผลตอบแทน ยาปฏิชีวนะนั้น คนจะใช้แค่ระยะสั้น ต่างจากยารักษาโรคเรื้อรังที่ผู้ป่วยจะต้องใช้ระยะยาว
เพื่อเป็นการกระตุ้นและส่งสัญญาณให้วงการวิทยาศาสตร์ อุตสาหกรรมยาตลอดจนรัฐบาลทั่วโลก พุ่งความสนใจไปยังภัยคุกคามสาธารณสุขอย่างมีเป้าชัดเจน องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้จัดทำบัญชีซูเปอร์บัก 12 ชนิดตามลำดับสำคัญเร่งด่วนออกมาเป็นครั้งแรกและเผยแพร่เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (27 ก.พ.)
มารี พอล คีนีย์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ด้านนวัตกรรมและระบบสาธารณสุข ผู้เคยออกมาเตือนว่าโลกอาจกำลังเข้าสู่ยุคหลังยาปฏิชีีวนะ กล่าวว่า การแพร่ของเชื้อดื้อยาอยู่ในระดับน่าตกใจ แต่ท่อส่งยาเวลานี้กำลังแห้งขอดในทางปฏิบัติ หากมัวแต่รอพลังตลาดอย่างเดียว ยาปฏิชีวนะตัวใหม่ที่ต้องการอย่างด่วนที่สุดคงพัฒนาออกมาไม่ทันการณ์อย่างแน่นอน เพราะการพัฒนายาชนิดใหม่อาจจะต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปีจึงจะออกสู่ตลาดได้
เชื้อแบคทีเรียดื้อยา 12 ชนิด ที่โลกต้องเร่งหาทางรับมือแบบช้าไม่ได้อีกต่อไป จัดทำโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ จากองค์การอนามัยโลก และมหาวิทยาลัย ทือบิงเงน ในเยอรมนี โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ “วิกฤติ” “สูง” และ “กลาง” ตามระดับเร่งด่วนของความต้องการยาชนิดใหม่มาใช้ต่อสู้ เกณฑ์ที่นำมาใช้จัดหมวด เช่น อัตราการตาย ความแพร่หลายในชุมชน และภาระต่อระบบสาธารณสุข (แต่เหตุที่วัณโรคดื้อยา ไม่ได้รวมอยู่ในลิสต์ ก็เพราะโลกมีฉันทามติร่วมกันอยู่แล้วว่าอยู่ในลำดับแรกของการวิจัยและพัฒนา ไม่มีปัญหาเรื่องทุนสนับสนุน)
กลุ่ม “วิกฤติ” มีความเร่งด่วนกว่าเพื่อน เพราะเป็นแบคทีเรียวงศ์ดื้อยาคาร์บาเพเนม ด่านสุดท้ายในการยื้อชีวิต โดยมากแพร่ในโรงพยาบาลในหมู่ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ เคมีบำบัด และผู้ป่วยในห้องไอซียูหรือสถานดูแลผู้สูงอายุ ที่ต้องใช้อุปกรณ์ เช่น เครื่องช่วยหายใจ
สตรีอเมริกันคนหนึ่งเสียชีวิตจากการติดเชื้อดื้อยาทุกขนานที่มีอยู่เป็นข่าวโด่งดังเมื่อเดือนมกราคม ก็เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรแบคทีเรียซี ในกลุ่มวิกฤติขององค์การอนามัยโลก
ส่วนกลุ่ม “สูง” กับ “กลาง” เป็นแบคทีเรียดื้อยาที่เป็นสาเหตุของโรคที่พบทั่วไป อาทิ หนองใน โรคติดต่อทางเพศ และอาหารเป็นพิษจากเชื้่อซัลโมเนลลา ที่ประเทศยากจนได้รับผลกระทบหนักสุด กลุ่มแพทย์ไร้พรมแดน ซึ่งให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยในประเทศสงครามและยากจน เห็นด้วยว่าจำเป็นต้องมียาใหม่อย่างเร่งด่วน แพทย์ภาคสนามขององค์กรพบการติดเชื้อแบคทีเรียกลุ่มวิกฤติบ่อยครั้ง ในกลุ่มทารกและเด็ก เหยื่อไฟลวกและเหยื่อที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง
นอกจากกระตุ้นภาคเอกชนแล้ว ผู้เชี่ยวชาญยังเรียกร้องรัฐบาลตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่ออุดช่องว่างจากการที่่อุตสาหกรรมยายังรีรออยู่ เพิ่มสนับสนุนการวิจัยเชื้อดื้อยาและตัวยาใหม่ ซึ่งประเทศอย่างสหรัฐอเมริกาและจีน เริ่มมีกองทุนนี้แล้ว โดยเมื่อกุมภาพันธ์ 2559 รัฐบาลสหรัฐได้ตั้ง BARDA Biopharmaceutical Accelerator เพื่อให้ทุนสนับสนุนการวิจัยยาปฏิชีวนะผ่านความเป็นหุ้นส่วนอุตสาหกรรมและองค์กรไม่แสวงผลกำไร
อีกด้านหนึ่ง นวัตกรรมที่โลกต้องการเพื่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียดื้อยา ไม่ใช่แค่ยาใหม่ แต่ยังต้องการวิธีวินิจฉัยที่ดีขึ้นเพื่อประเมินการติดเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ที่สำคัญคือเพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายยาที่ไม่จำเป็น จึงเป็นเหตุผลให้รัฐบาลหลายประเทศทุ่มทุนคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ อย่างชุดตรวจแบบง่าย ราคาถูกและแม่นยำวิเคราะห์การติดเชื้่อแบคทีเรีย ทั้งหมดนี้ก็เพื่อป้องกันแบคทีเรียดื้อยาที่จะทำให้โรคที่เคยรักษาได้ง่าย กลายเป็นโรคร้ายแรง และวิวัฒนาการเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่ยากต่อกร