วันที่ 9 พฤศจิกายน 2566 คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ร่วมกับ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร วิโรฒ (มศว.) นำเสนอผลการศึกษาการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ (กสทช.) สำนักงาน (กสทช.) และเลขาธิการ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2566 และจัดงานเสวนาวิชาการหัวข้อ “ทิศทางการดำเนินงานของกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทย” เพื่อการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานภายใต้กิจการโทรทัศน์ ในประเทศไทย ทั้งในปัจจุบัน และการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ณ โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค กรุงเทพมหานคร
ในการจัดงานเพื่อนำเสนอผลการศึกษาในครั้งนี้ ได้เชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมจากทุกภาคส่วนตัวแทนองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชนทั่วไป องค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น และสื่อมวลชน เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นกว่า 70 คน พร้อมกันนี้ได้เรียนเชิญผู้แทนทางด้านกฎหมายและนโยบาย ผู้แทนผู้ประกอบการ ผู้แทนนักวิชาการ และผู้แทนภาคประชาชน ร่วมเวทีการเสวนาวิชาการ เพื่อการส่งเสริมให้เกิดการดำเนินงานภายใต้กิจการโทรทัศน์ ในประเทศไทย ทั้งในปัจจุบัน และการส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต
ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร ประธานและกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า “(กทสช.) มีบทบาทและภารกิจอย่างกว้างขวางและมีผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์ ที่สื่อสารมวลชนที่ทรงอิทธิพลต่อผู้รับสานอย่างมาก มีคุณค่าต่อสังคม และมีมูลค่าในอุตสาหกรรมสื่อ แต่ปัจจุบันกำลังเปลี่ยนแปลงไปด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ซึ่งถือเป็นความท้าทายของ (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานกับดูแลกิจการโทรทัศน์ที่มีอำนาจหน้าที่ให้การกำกับดูแลตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม”
“การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ (กสทช.) สำนักงาน (กสทช.) และเลขาธิการ (กสทช.) ประจำปี 2566 นี้ เราได้เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ประเมินผล สรุปผลข้อมูล พร้อมจัดทำรายงานประกอบการดำเนินงาน จากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ ข้อมูลทุติยภูมิ และเอกสารที่เกี่ยวข้องที่สามารถนำมาใช้ประกอบการศึกษาได้ โดยเฉพาะข้อมูลการดำเนินการตามแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับ (กสทช.) แผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการประจําปี แผนงานโครงการ กิจกรรม และผลการดําเนินงานต่างๆ ของ (กสทช.) สํานักงาน (กสทช.) และเลขาธิการ (กสทช.) รวมถึงมีการสํารวจข้อมูล ข้อคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องทุกภูมิภาค โดยเก็บข้อมูลจากแบบสอบถาม การสัมภาษณ์เชิงลึกและการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จํานวน 5 ภาค ได้แก่ (1) ภาคกลาง กรุงเทพมหานคร (2) ภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ (3) ภาคใต้ จังหวัดภูเก็ต (4) ภาคตะวันออก จังหวัดชลบุรี และ (5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดนครราชสีมา ภูมิภาคละ 150 คน และการประชุมเฉพาะกลุ่ม ที่กรุงเทพมหานคร และ การสัมภาษณ์เชิงลึก (In-depth Interview) จาก (กสทช.) คณะกรรมการ (กสทช.) สำนักงาน (กสทช.) ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้เสีย”
รศ.ดร.ณักษ์ กุลิสร์ หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า “สำหรับผลการศึกษาการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการและการบริหารงานของ (กสทช.) สำนักงาน (กสทช.) และเลขาธิการ (กสทช.) ด้านกิจการโทรทัศน์ ประจำปี 2566 นั้น ซึ่งฉบับสมบูรณ์นั้น ดำเนินการจัดทำและนำเสนอในรูปแบบรายงานต่อไป และจากการติดตาม ประเมินผล นั้นมีความสอดคล้องกับแผนนโยบายระดับชาติ มีวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายปฏิบัติหน้าที่ตามพันธกิจให้บรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กร มีการวางเป้าหมายการปฏิบัติงานที่ชัดเจนและอยู่ในระดับที่ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน ทําให้การดําเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล การปฏิบัติงานที่สําคัญในปี พ.ศ.2566 ของ (กสทช.) ในด้านกิจการโทรทัศน์ สามารถแบ่งได้ 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้”
1.ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบปัญหาบางพื้นที่ในภาคเหนือไม่สามารถรับสัญญาณได้ซึ่งมีศูนย์กระจายสัญญาณอยู่ดอยเต่าด้วยภูมิศาสตร์ที่เป็นภูเขาสูงทำให้อำเภอฮอดบางพื้นที่ไม่สามารถรับสัญญาณได้ ส่วนพื้นที่อื่น เช่น จังหวัดนครราชสีมาจะมีปัญหาช่วงสภาพอากาศไม่ปกติทำให้ความคมชัดของสัญญาณภาพและเสียง การรับสัญญาณไม่ดี
2.ด้านเนื้อหา พบว่า รายการโทรทัศน์เป็นรายการประเภทโชว์เพียงอย่างเดียว เน้นสนุกสนาน ไม่ได้ส่งเสริมความรู้ให้กับผู้รับชม รายการสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว ข่าวสารและสาระมีจำนวนน้อย เนื้อหาละครซ้ำๆ รายการข่าวนําเสนอเนื้อหาและข้อมูลข่าวสารไม่มีความเป็นกลาง นำเสนอข่าวเดียวซ้ำๆ บางครั้งการสัมภาษณ์ภาคสนามเป็นการซ้ำเติมผู้ประสบเหตุ รวมถึงการนําเสนอเนื้อหาและรายละเอียดข่าวที่เจาะลึกจนอาจจะนำไปสู่พฤติกรรมเลียนแบบได้ ภาษาที่ใช้ไม่เหมาะสม ไม่สุภาพ นอกจากนี้ การเข้าถึงข่าวสาร ความบันเทิง หรือความรู้ต่างๆ ที่เผยแพร่ทางโทรทัศน์มีความจำกัดสำหรับผู้พิการ โดยส่วนใหญ่พบเพียงล่ามภาษามือจึงทำให้ผู้พิการอื่นขาดโอกาสการรับชมและรับฟังรายการทางโทรทัศน์ ควรเพิ่มรายการสำหรับเด็ก เยาวชน ครอบครัว ข่าวสารและสาระ
3.ด้านการโฆษณา พบว่า จำนวนเวลาหรือระยะเวลาการโฆษณามากเกินไป มีการโฆษณาแฝง การโฆษณาขายสินค้าคุณสมบัติเกินจริง การกำกับดูแลเนื้อหาที่ล่อแหลมหรือการบังคับใช้มาตรการในการเซ็นเซอร์และการจัดเรตติ้งต่างๆ ควรเป็นมาตรฐานเดียวกัน ทั้งโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โทรทัศน์แบบดั้งเดิมกับผู้ให้บริการผ่านสื่อออนไลน์ (OTT)
4.ด้านการร้องเรียน พบว่าประชาชน ส่วนใหญ่ยังไม่ทราบว่าจะต้องร้องเรียนช่องทางใด กลุ่มที่ทราบว่ามีช่องทางการร้องเรียนโทรฟรี 1200 มีขั้นตอนที่ไม่เอื้ออำนวยต่อผู้แจ้งปัญหาและประชาชนต้องการสื่อสารกับพนักงาน ไม่ใช่ระบบอัตโนมัติ เมื่อแจ้งเรื่องร้องเรียนไปแล้วผู้รับเรื่องไม่มีการแจ้งผลการดำเนินการ ควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบช่องทางการร้องเรียน หรือการติดต่อกับ (กสทช.) ในทุกๆ ปี (กสทช.) มีการประชุมหลายครั้งและมีการเปิดรับฟังปัญหา ข้อร้องเรียนต่างๆ แต่ปัญหาที่ร้องเรียนไม่ได้ถูกจัดการและไม่มีการสะท้อนกลับว่ามีผลดำเนินการอย่างไร ควรมีการสื่อสารกับประชาชนเกี่ยวกับการจัดการข้อร้องเรียน
5.ด้านการจัดการและด้านอื่นๆ (กสทช.) และหน่วยงานภาครัฐอื่นที่มีภารกิจเกี่ยวข้องต้องบูรณาการ มีการประสานงานทำงานร่วมกันระหว่างภายใน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภายนอก เพื่อร่วมกันจัดการปัญหา ควบคุม ส่งเสริมและพัฒนาด้านกิจการโทรทัศน์ เพราะคำว่า ไม่ใช่ภารกิจของ กสทช.ทำให้ประชาชนไม่รู้จะไปพึ่งใครต่อ บทบาทของ (กสทช.) เน้นกำกับและควบคุมมากเกินไป ควรปรับเปลี่ยนบทบาทเป็นการส่งเสริมและพัฒนาร่วมกับผู้ผลิต ผู้ประกอบการและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะทำให้เกิดการพัฒนามากกว่า สร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตเนื้อหารายการที่มีคุณภาพและหลากหลาย ปรับปรุงข้อกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนทางด้านดิจิทัลมากขึ้น (กสทช.) ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมในการส่งเสริมสื่อท้องถิ่น สื่อชุมชน (กสทช.) ควรมีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับแนวนโยบายอุตสาหกรรมโทรทัศน์ในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การกำหนดแนวทางทีวีดิจิทัลหลังปี 2572 อย่างสม่ำเสมอ
ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร กล่าวต่อว่า “ในส่วนของเสนอแนะเบื้องต้นนั้น ให้ (กสทช.) มีการปรับบทบาทของ (กสทช.) ที่ทันต่อยุคสมัยต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เกิดการแก้ไขกฎหมาย ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ผู้ประกอบการ การรวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่มุ่งเน้นต่อเอื้อประโยชน์แก่ประชาชนเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการเข้าถึงอย่างเท่าเทียมซึ่งเป็นสิทธิในการรับบริการด้านการสื่อสาร ขั้นพื้นฐานและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างเท่าเทียมกัน เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต และพัฒนาเศรษฐกิจของชาติ”
“การร่างกฎหมาย เพื่อให้มีอำนาจในการควบคุมการแพร่ภาพ เสียงที่ครอบคลุมไปถึง การออกอากาศด้วยระบบ OTT ซึ่งในช่วงที่ยังไม่มีกฎหมาย หรือระเบียบนั้น (กสทช.) ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจึงควรพัฒนาความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้อง ตามอำนาจหน้าที่”
“นอกจากนี้ด้านการส่งเสริมเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเนื้อหารายการ สิทธิประโยชน์เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมกิจการโทรทัศน์ ยังรวมถึงการปรับแก้ไขระเบียบ และกฎหมายเพื่อเอื้อต่อการส่งเสริมให้เกิดการต่อใบอนุญาตหลังการหมดสัมปทาน ในปี 2572 ซึ่งมีปัจจุบันผู้ประกอบมีอัตราการเติบโตมีแนวโน้มลดลง และความไม่หลากหลายของเนื้อหารายการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนในอนาคต”
“และการดำเนินการของ กสทช. ต่อการตอบสนองผลกระทบประชาชนเรื่องสัญญาณภาพและเสียง (กสทช.) เขต/ภูมิภาค จึงควรมุ่งเน้นการทำงานเชิงรุก โดยไม่รอให้ประชาชนมาแจ้ง การหาวิธีการสำรวจในเขต/ภูมิภาคที่รับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนต่อไป”