ครอบคลุมเทคโนโลยีขั้นสูงจนถึงเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรวมทั้งความร่วมมือใหม่ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ
วันที่ 8 พ.ย.2566 : น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า ในระหว่างการประชุม Belt and Road Conference on Science and Technology Exchange ครั้งที่ 1 ณ นครฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ตนได้ประชุมทวิภาคีไทย – จีนร่วมกับ นายหยิน เหอจวิ้น รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน และมีการลงนามใน “บันทึกความเข้าใจว่าด้วยโครงการแลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคประชาชน ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน” (Memorandum of Understanding on Science and Technology People-to-People Exchange Program) เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศ สร้างความเข้าใจและความไว้วางใจซึ่งกันและกันระหว่างนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ และสถาบันวิจัยของทั้งสองประเทศซึ่งจะเป็นการช่วยกระชับความร่วมมือทวิภาคีในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น โดยมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ของกระทรวง (อว.) และศูนย์แลกเปลี่ยนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศจีน (China Science and Technology Exchange Center – CSTEC) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน ได้รับมอบหมายให้เป็นคณะทำงานร่วมภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้
รมว.กระทรวง (อว.) กล่าวต่อว่า ความสำเร็จจากการประชุมหารือทวิภาคีไทย – จีนในฐานะประเทศหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ ครั้งนี้มีความครอบคลุมตั้งแต่ในด้านเทคโนโลยีขั้นสูงจนถึงด้านเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การร่วมกันพัฒนาเครื่องโทคาแมคซึ่งเป็นปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่จะใช้ประโยชน์ในด้านการผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต รวมทั้งหยิบยกผลสำเร็จจากการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-จีน ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ครั้งที่ 4 ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนกันยายน 2566 ที่กรุงเทพฯ ที่มีเจตจำนงร่วมกันในการพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง นิวเคลียร์ฟิวชัน การใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยใช้เทคโนโลยีด้านการแพทย์ เช่น การใช้ลำอนุภาคโปรตรอนพลังงานสูง บำบัดโรคมะเร็ง โดยใช้ proton cancer therapy technology นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือกับศูนย์วิจัยของจีนทางด้านการสร้างภาพทางการแพทย์ด้วยเอไอ (AI medical imaging) ที่มีความก้าวหน้ามากอย่างยิ่งในประเทศจีน รวมทั้งเทคโนโยลีด้านหุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Robotics Medicine) ที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง
สาขาความร่วมมือใหม่ด้านเทคโนโลยีอวกาศ ที่เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่มีความสำคัญ ที่เป็น New growth engine ตัวใหม่ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ ที่ทำให้เกิดการสร้างนักวิทยาศาสตร์ สร้างงาน และสร้างผู้ประกอบการของประเทศ
“ดิฉันได้ขอให้ท่านรัฐมนตรีหยิน เหอจวิ้น ช่วยผลักดันและสานต่อความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของทั้งสองฝ่ายทั้งในระดับกระทรวงและระดับหน่วยงาน/มหาวิทยาลัย รวมทั้งจะใช้ประโยชน์จากความร่วมมืออย่างใกล้ชิดของสองประเทศ และผลักดันให้เกิดความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมให้ได้มากที่สุด” น.ส.ศุภมาสฯ กล่าว
ด้านนายหยิน เหอจวิ้น กล่าวว่า ความร่วมมือในฐานะผู้แทนรัฐบาลของทั้งสองฝ่าย สามารถขยายความร่วมมือโดยใช้กลไกการทำงานตามปกติ แต่หากมีความประสงค์ที่จะดำเนินการในเรื่องใดเป็นพิเศษ ฝ่ายจีนพร้อมให้การสนับสนุน ซึ่งหน่วยงานในสังกัดและที่เกี่ยวข้องสามารถติดต่อประสานงานกันได้โดยตรง